เรื่องภิกษุคบภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภภิกษุผู้คบภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สลาภํ นาติมญฺเญยฺย เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง รับคำเชิญจากภิกษุที่เป็นพวกเดียวกับพระเทวทัต ให้ไปพักด้วย และได้พักอยู่ที่นั่น 2-3 วัน หลังจากกลับมาอยู่วัดเดิมแล้ว ภิกษุอื่นๆได้นำเรื่องนี้ขึ้นกราบทูลพระศาสดาว่า ภิกษุรูปนี้ไปสมาคมกับภิกษุที่เป็นพวกของพระเทวทัต ถึงขนาดไปพักอยู่ที่วัดของพระเทวทัตเป็นเวลา 2-3 วัน ไปฉัน ไปจำวัตรกับภิกษุพวกนั้นด้วย พระศาสดามีรับสั่งให้ภิกษุนั้นมาเฝ้า ทูลถามว่าเป็นจริงอย่างที่ภิกษุทั้งหลายกล่าวหาหรือไม่ ภิกษุนั้นกราบทูลว่าได้ไปพักที่วัดแห่งนั้นเป็นเวลา 2-3 วันจริง แต่ไม่ได้ยินดีคำสอนในลัทธิของพระเทวทัต
พระศาสดาได้ทรงตำหนิภิกษุนั้น และได้ทรงชี้ว่าพฤติกรรมเช่นนั้นส่อไปในทางที่จะทำให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นศิษย์ของพระเทวทัต และตรัสว่า “แม้เธอจะไม่ชอบใจลัทธิคำสอนของพระเทวทัตก็จริง แต่การที่เธอไปที่นั่นส่อแสดงว่าเธอเป็นสาวกของพระเทวทัต” และได้ทรงนำเรื่องในมหิฬามุขชาดกมาเล่า แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุ พึงเป็นผู้ยินดีด้วยลาภของตนเท่านั้น การปรารถนาลาภของคนอื่นไม่สมควร เพราะบรรดาฌาน วิปัสสนา มรรค และ ผลทั้งหลาย แม้ธรรมสักอย่างหนึ่ง ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารถนาลาภของผู้อื่น แต่คุณชาติทั้งหลายมีฌานเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ยินดีด้วยลาภของตนเท่านั้น”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
สลาภํ นาติมญเญยฺย
นาญฺเญสํ ปิหยํ จเร
อญฺเญสํ ปิหยํ ภิกฺขุ
สมาธึ นาธิคจฺฉติ ฯ
อปฺปลาโภปิ เจ ภิกขุ
สลาภํ นาติมญฺญติ
ตํ เว เทวา ปสํสนฺติ
สุทธาชีวํ อตนฺทิตํ ฯ
ภิกษุไม่ควรดูหมิ่นลาภของตน
ไม่ควรเที่ยวปรารถนาลาภของผู้อื่น
ภิกษุเมื่อปรารถนาลาภของผู้อื่น
ย่อมไม่ประสบสมาธิ.
ถ้าภิกษุแม้เป็นผู้มีลาภน้อย
ก็ไม่ดูหมิ่นลาภของตน
เทวดาทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญภิกษุนั้นแล
ว่าผู้มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
No comments:
Write comments