KEATHADHAMMABOTHTHAI

nousambath855@gmail.com

เรียบเรียงโดย จงฺกมรกฺขิโต นู สมบัติ keathadhammaboththai.blogspot.com

อ่านเรื่องในคาถาธรรมบท ๓๐๒ เรื่อง บล็กนี้เรียบเรียงโดย ภิกฺขุ จงฺกมรกฺขิโต นู สมบัติ ขออนุโมทนาบุญทุกย่าง ! Email: nousambath855@gmail.com

December 21, 2018

อานิสงส์ของบุญ ๔๗ ประการ

 
  1. อเชยฺย       ใครจะมาแย่งไม่ได้
  2. อนุคามินี       ติดตามตนไปทุกฝีก้าว
  3. เอตํ อาทาย  คจฺฉติ           ละร่างนี้แล้วยังติดตามไปที่เกิด
  4. อสาธารณ ไม่ทั่วไปแก่คนอื่นใครทำใครได้
  5. อโจร       โจรลักไปไม่ได้
  6. สพฺพกามทท     ให้สมบัติแก่เราตามต้องการ
  7. ยํยํ เทวาภิปตฺเถนฺติ          ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้น
  8. สุวณฺณตา    มีผิวพรรณงามเพราะบุญ
  9. สุสรตา                           มีเสียงไพเราะเพราะบุญ
  10. สุสณฺฐานํ          มีทรวดทรงงามเพราะบุญ
  11. สุรูปตา มีรูปสวยก็เพราะบุญ
  12. อาธิปฺปจฺจํ ได้เป็นใหญ่ก็เพราะบุญ
  13. ปริวาโร มีบริวารที่ซื่อสัตย์จงรัก
  14. ปเทสรชฺชํ เป็นพระราชาก็เพราะบุญ
  15. อิสฺสริยํ ได้อิสริยยศเพราะบุญ
  16. จกิกวตฺติ ได้เป็นจักรพรรดิเพราะบุญ
  17. เทวรชฺชมฺปิ เป็นราชาแห่งเทพเพราะบุญ
  18. มานุสกา               ได้มนุษย์สมบัติเพราะบุญ
  19. เทวโลเก ได้สวรรค์สมบัติเพราะบุญ
  20. นิพฺพานสมฺปตฺติ  ได้นิพพานสมบัติเพราะบุญ
  21. มิตฺตสมฺปทมาคมฺม ได้เพื่อนดีก็เพราะบุญ
  22. วิชฺชาวิมุตฺติ                 ได้วิชชาวิมุตติก็เพราะบุญ
  23. ปฏิสมฺภิทา แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ เพราะบุญ
  24. วิโมกฺขา  ได้วิโมกข์ ๓ วิโมกข์ ๘ เพราะบุญ
  25. สาวกปารมี ได้เป็นพุทธสาวกเพราะบุญ
  26. ปจฺเจกโพธิ ได้เป็นปัจเจกพุทธเพราะบุญ
  27. พุทฺธภูมิ            เป็นพระพุทธเจ้าเพราะบุญ
  28. สุขานํ นิทานํ                 เป็นต้นเหตุของความสุขทุกอย่าง
  29. สมฺปตฺตีนํ มูลํ                เป็นรากเหง้าของสมบัติทั้งปวง
  30. โภคานํ ปติฏฺฐา              เป็นที่ตั้งอาศัยของโภคะ
  31. วิสมคตาสฺสตาณํ   เป็นเครื่องป้องกันในวัฏสงสาร
  32. ทานาสทิโส อวสฺสโย     ที่พึ่งอาศัยอื่นไม่เท่าบุญ
  33. สีหาสนสทิสํ    เป็นที่อยู่ดุจที่อยู่ของราชสีห์
  34. มหาปฐวีสทิสํ เป็นที่อาศัยดุจดังแผ่นดิน
  35. รชฺชุสทิสํ เป็นดุจเชือกยึดเหนี่ยวไว้
  36. นาวาสทิสํ เป็นดุจเรือพาข้ามฟากพ้นทุกข์
  37. สงฺคามสูโร เป็นบุคคลแกล้วกล้าในสงคราม
  38. สุสงฺขตนครํ เช่นเดียวกับพระนครที่ตกแต่งแล้ว
  39. ปทุมสทิสํ เช่นกับดอกปทุมหอมไม่เปี้อนสกปรก
  40. อคฺคสทิสํ เช่นไฟเพราะเผาบาปให้หมดไป
  41. อาสีวิสสทิสํ เช่นอสรพิษ  เพราะตัดบาปทิ้ง
  42. สีหสทิสํ เช่นราชสีห์  องอาจกล้าหาญ
  43. เสตวสภสทิสํ เช่นโคอุสุภราช  เพราะประเสริฐสุด
  44. หตฺถีสทิสํ                  เช่นพระยาช้าง  เพราะกำลังมาก
  45. วลาหกสฺสราชสทิสํ เช่นม้าวลาหก  ข้ามวัฏฏะได้เร็ว
  46. คตมคฺคํ เป็นทางที่ปราชญ์ได้เดินแล้ว
  47. พุทฺธวํสํ เป็นวงศ์ของพระพุทธเจ้าทุกองค์
ปราชญ์จึงสรรเสริญว่าบุคคลผู้ได้ทำบุญไว้ปางก่อนดีอย่างนี้

ลักษณะพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุพระสาวก ๔๘

 
 
  1.  พระบรมสารีริกธาตุ มีสัณฐานดังเมล็ดถั่วแตกอย่างหนึ่ง  ข้าวสารหักอย่างหนึ่ง  เมล็ดพรรณผักกาดอย่างหนึ่ง  มีพรรณดังสีทองอุไร  สีแก้วผลึก  หรือแก้วมุกดา  สีดอกพิกุล  อย่างทองอุไรนั้นบางทีมีรูทะลุตลอดเส้นผมลอดได้
  2. ธาตุพระสารีบุตร มีสัณฐานกลมเป็นปริมณฑลบ้าง  รีเป็นไข่จิ้งจกบ้าง  เป็นดังรูปบาตรคว่ำบ้าง  พรรณขาวดังสีสังข์  สีพิกุลแห้ง  สีหวายตะค้า
  3. ธาตุพระโมคคัลลานะ มีสัณฐานกลมเป็นปริมณฑลอย่างหนึ่ง  รีเป็นผลมะตูมและเมล็ดทองหลางก็มี  และเมล็ดสวาดก็มี  เป็นเมล็ดดำก็มี  สีเหลืองเหมือนหวายตะค้าบ้าง  สีขาวบ้าง  เขียวช้ำในและลายดังไข่นกบ้าง  ร้าวเป็นสายเลือดบ้าง
  4. ธาตุพระสิวลี มีสัณฐานดังเมล็ดในพุทราอย่างหนึ่ง  ผลยอป่าอย่างหนึ่ง  พรรณเขียวดังดอกผักตบบ้าง  แดงดังสีหม้อใหม่บ้าง  สีพิกุลแห้งบ้าง  เหลืองดังหวายตะค้าบ้าง  ขาวดังสีสังข์บ้าง
  5. ธาตุพระองคุลิมาล มีสัณฐานคอดดังคอสากบ้าง  ที่มีรูโปร่งตลอดเส้นผงลอดได้ก็มี  พรรณขาวดังสีสังข์  เหลืองดังดอกจำปาสีฟ้าหมอก
  6. ธาตุพระอัญญาโกณฑัญญะ มีสัณฐานงอนช้อยดังงาช้าง  พรรณขาวดังดอกมะลิตูมอย่างหนึ่ง  เหลืองอย่างหนึ่ง  ดำอย่างหนึ่ง
  7. ธาตุพระอนุรุทธะ มีสัณฐานเป็นสามเหลี่ยม  พรรณแดงดังสีเลือดนก
  8. ธาตุพระกัจจายนะ มีสัณฐานดังศีรษะช้าง  ดังเบี้ยจั่น  พรรณขาวดังสีสังข์ก็มี  เหลืองก็มี
  9. ธาตุพระพิมพาเถรี มีสัณฐานดังแป้งหยด  เป็นจั่วสามเหลี้ยม  เป็นเล็บมือ  เป็นแผ่นกระแจะ  พรรณขาวบ้าง  เหลืองดังสีลานบ้าง  ดำก็มีบ้าง  สีดอกพิกุลแห้งบ้าง  บางที่มีรูทะลุกลาง  บางที่ไม่ทะลุเป็นแต่สะดือก็มี
  10. ธาตุพระสันตติมหาอำมาตย์ มีสัณฐานดังดอกมะลิตูม  พรรณขาวดังสีสังข์
  11. ธาตุพระภัททิยะ มีสัณฐานดังกลอง  ที่สุดทั้งสองข้างเรียวเล็ก  พรรณดังสีดอกพุดตาน
  12. ธาตุพระอานนท์ มีสัณฐานดังใบบัวเผื่อน  พรรณดำดังน้ำรักอย่างหนึ่ง  สีขาวสะอาดดังสีเงินอย่างหนึ่ง
  13. ธาตุพระอุปคุตตะ มีสัณฐานหัวคอดท้ายคอด  พรรณดังสีดอกพิกุลแห้ง  สีเปลือกหอม
  14. ธาตุพระอุทายี มีสัณฐานยาวและคดดังกฤช  พรรณดังสีดอกบัวโรย  สีดอกบานไม่รู้โรย   สีดอกหงอนไก่  สีดอกคำ
  15. ธาตุพระอุตตราเถรี มีสัณฐานดังรูปพระควัมปติ  พรรณดังเมฆสีหมอกฟ้า  สีแดงเข้ม
  16. ธาตุพระกาฬุทายีเถระ มีสัณฐานดังลูกหินบด  พรรณดังสีเมฆเกล็ดฟ้า
  17. ธาตุพระปุณณเถระ มีสัณฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส  พรรณสีขาว  สีดอกพิกุลแห้ง
  18. ธาตุพระอุปนันทะ มีสัณฐานกลมเป็นปริมณฑล  พรรณสีเขียว
  19. ธาตุพระสัมปฑัญญะ มีสัณฐานเท่าหมากสงปอกแล้ว  พรรณสีแดงขาว
  20. ธาตุพระจุลลินเถระ มีสัณฐานต่าง ๆ หากำหนดมิได้  พรรณดังสีดอกจำปา  สีกล้วยครั่ง
  21. ธาตุพระจุลนาคะ มีสัณฐานดังดอกดีปลี  เป็นปุ่ม  ยาว  ทบไปทบมาทั่วทั้งองค์  พรรณขาวดังสีสังข์
  22. ธาตุพระมหากัปปินะ มีสัณฐานดังผลชะเอม  พรรณขาวข้างแดงข้างอย่างหนึ่ง  เหลืองข้างเขียวข้างอีกอย่างหนึ่ง
  23. ธาตุพระยังคิกเถระ  มีสัณฐานสี่เหลี่ยมแบนเป็นหน้ากระดาน  มีรูกลาง  พรรณดังสีทองแดง
  24. ธาตุพระสุมนเถระ มีสัณฐานดังหอยโข่ง  พรรณแดงดังสีชาด  ดังสีเสนกำมะถัน
  25. ธาตุพระกังขาเรวตะ มีสัณฐานกลม  งอกกะปุ่มกะป่ำดังภูเขา  พรรณเขียวดังสีลูกปัด  สีปีกแมลงทับ  สีลูกจันทน์อ่อน
  26. ธาตุพระโมฆราชเถระ มีสัณฐานดังฟองมัน  พรรณสีเมฆหมอกสีดำเทา
  27. ธาตุพระอุตตระ มีสัณฐานดังเมล็ดแตงโม  พรรณแดงดังเปลือกกรู  ดังผลหว้า
  28. ธาตุพระคิริมานันทะ มีสัณฐานดังดอกพิกุล  พรรณเหลืองแก่ดังสีขมิ้น  สีดอกการะเกด
  29. ธาตุพระสุปากะ มีสัณฐานดังผลมะม่วง  กลางทะลุเป็นรูตลอด  พรรณแดง  เหลือง  ขาว
  30. ธาตุพระวิมละ มีสัณฐานกลมยาว  มีรูทะลุตลอดหัวท้าย  พรรณสีเขียว  สีขาว
  31. ธาตุพระเวณุหาสะ มีสัณฐานดังตาอ้อย  พรรณแดงดังสีฝาง  สีมะเดื่อสุก
  32. ธาตุพระอุคคาเรวตะ     มีสัณฐานดังผลกระจับ  พรรณดังเมล็ดในทับทิมสุก
  33. ธาตุพระอุบลวรรณาเถรี มีสัณฐานงอนดังกระดูกสันหลังงู  มีรูทะลุกลาง  พรรณเหลืองดังเกสรบัว
  34. ธาตุพระโลหนามเถระ มีสัณฐานผลฝ้าย  (บางตำราว่าเมล็ดฝ้าย)  พรรณเขียวเหลืองแดง  เหมือนฟ้า  ทับทิม  เหมือนดอกลั่นทมชนิดหนึ่ง  เหมือนปูนแดงอย่างหนึ่ง
  35. ธาตุพระคันธทายี มีสัณฐานดังวงพระจันทร์ข้างแรม
  36. ธาตุพระโคธิกะ มีสัณฐานดังลูกข่าง
  37. ธาตุพระปิณฑปาติยะ มีสัณฐานเป็นกลีบกนก
  38. ธาตุพระกุมารกัสสปะ มีสัณฐานดังคอนนกเขา
  39. ธาตุพระภัททคู มีสัณฐานดังตัว  อุ
  40. ธาตุพระโคทัตตะ มีสัณฐานดังผลมะระ
  41. ธาตุพระอนาคารกัสสปะ มีสัณฐานเหมือนหอยสังข์
  42. ธาตุพระควัมปติ มีสัณฐานเหมือนใบบัวอ่อน
  43. ธาตุพระมาลียเทวะ มีสัณฐานเหมือนขันครอบ  พรรณดังสีขมิ้นชัน
  44. ธาตุพระกิมิลเถระ มีสัณฐานเหมือนบัณเฑาะว์
  45. ธาตุพระวังคีสเถระ มีสัณฐานดังเมล็ดน้อยหน่าตัด
  46. ธาตุพระโชติยเถระ มีสัณฐานดังผลลูกจันทน์
  47. ธาตุพระเวยยากัปปะ มีสัณฐานดังทองนั่งเบ้า
  48. ธาตุพระกุณฑลติสสะ     มีสัณฐานดังจาวลูกจันทน์
 
 

May 12, 2018

อาจารย์ บุต สาวงษ์ สนทนาธรรม กับ แม่สุจินต์ ภาคที่๔/๕

 


อาจารย์ บุต สาวงษ์ สนทนาธรรม กับ แม่สุจินต์ ภาคที่๔/๕

บุต สาวงษ์:    เป็นคำถามในเรื่องสติปัฏฐาน ในอิริยาปถบรรพ ท่านแสดงอิริยาบถทั้ง ๔ มีการเดิน การยืน การนั่ง การนอน แล้วก็มีคำถามว่า ใครเดิน การเดินของใคร เดินได้เพราะอาศัยอะไร คำถามทั้งหมดนี้เพื่อให้มีสัมมาสติหรืออย่างไรครับ

   แม่สุจินต์:   เพื่อให้เข้าใจถูกต้อง ถ้าเป็นความคิดว่าเราเดิน ถูกต้องหรือไม่คะ ตอนนี้ไม่มีใครเดิน กำลังนั่ง ถ้าคิดว่าเป็นเราที่นั่ง ถูกต้องหรือเปล่า ถ้าเห็นถูก ไม่ได้หมายความว่าเราคิดเองว่าถูก แต่ต้องมีสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วเราสามารถเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่ถ้าไม่มีสภาพธรรมปรากฏ แล้วก็คิดเอาเองว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน อย่างนั้นจะเป็นเพียงความคิดหรือจะเป็นความรู้จริงๆว่าไม่ใช่เรา ถ้าเป็นเพียงความคิดว่าไม่ใช่เรา ก็ไม่ต้องอาศัยการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ก็แค่คิดกันว่าไม่ใช่เราที่กำลังนั่งเท่านั้น

     เพราะฉะนั้นการตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็คือต้องมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แล้วไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจถูก เห็นว่าสภาพธรรมนั้นเป็นเรา

     เพราะฉะนั้นปัญญา ความเห็นถูก จะเริ่มเมื่อได้ฟังพระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรม ให้เข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมจริงๆ

     ทุกคนยึดถือสภาพของรูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าว่าเป็นเรา แม้ว่ารูปนั้นไม่ปรากฏ แต่ก็จำไว้ว่ามีรูป ขณะนี้ทุกคนกำลังจำ เป็นอัตตสัญญา ความจำว่ามีเรา โดยที่ไม่รู้ความจริงว่า การยึดถือรูปที่ตัวว่าเป็นเรานี่ ยึดถือรูปอะไร จะมีใครตอบไหมคะว่า ยึดถือรูปอะไรที่ตัวว่าเป็นเรา

   บุต สาวงษ์:    รูปทั้งหมดครับ

   แม่สุจินต์:    รูปทั้งหมดหรือคะ แล้วมีลักษณะอะไรล่ะคะ ถ้าไม่มีลักษณะแล้วจะบอกว่าเป็นรูป ถูกหรือผิด เพราะฉะนั้นต้องมีสภาพธรรมซึ่งปรากฏแล้วไม่รู้ตามความเป็นจริง จึงเข้าใจว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นรูปอะไรที่ปรากฏที่ตัว ที่เข้าใจว่าเป็นเรา เพราะว่ามีรูป ถ้าไม่มีรูป จะว่าเป็นตัวได้ไหมคะ

     เพราะฉะนั้นรูปอะไรที่ตัว ยังไม่ได้ตอบ

   บุต สาวงษ์:    อยู่ในตัวก็มีเย็น มีร้อน มีอ่อน มีแข็ง เป็นต้น

   แม่สุจินต์:    เพราะฉะนั้นถ้ารูปเย็น หรือร้อน หรืออ่อน หรือแข็งไม่ปรากฏ ขณะนั้นจะรู้ไหมคะว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงรูปที่อ่อน เหมือนที่อื่นก็อ่อน รูปที่ร้อน รูปที่อื่นก็ร้อน รูปที่เย็น ที่อื่นก็เย็น เพราะฉะนั้นรูปก็คือรูป เป็นของใคร รูปเกิดมาอย่างไร ดับไปอย่างไร ก็ไม่รู้เลยสักอย่าง

     เพราะฉะนั้นปัญญาเป็นสภาพธรรมที่เห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมที่มีจริงๆ จนกระทั่งละคลายการยึดถือรูปว่าเป็นเรา ถ้าจะกล่าวว่า ปัญญาเห็นถูกในรูป คือ เห็นว่ารูปเป็นรูป ไม่ใช่เรา ก็ต้องมีลักษณะของรูปกำลังปรากฏให้ปัญญาเห็นถูกต้อง

     เพราะฉะนั้นรูปหนึ่งรูปใดที่ปรากฏที่ตัว ตามปกติค่ะ การรู้ความจริงของสภาพธรรมไม่ผิดปกติ เพราะว่าขณะนี้ไม่เคยระลึก ไม่เคยรู้ว่า รูปมีลักษณะอย่างไร ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราอย่างไร เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็รู้ว่า ไม่มีอะไรที่เกิดแล้วไม่ดับ แล้วไม่มีอะไรที่เป็นของเรา ทั้งหมดเป็นอนัตตา ถ้าเข้าใจความจริงอย่างนี้ ก็จะรู้ว่า รูปที่ปรากฏที่ตัวมีลักษณะอย่างไร ขณะนั้นเป็นสติที่กำลังระลึกลักษณะของรูปที่ตัว แล้วก็ค่อยๆมีความเห็นถูก เข้าใจถูกว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จนกระทั่งสามารถประจักษ์การเกิดดับของรูป ก็จะประจักษ์แจ้งว่า รูปเกิดแล้วรูปดับ

     เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่มี แล้วไม่มี ก็จะเป็นของใครไม่ได้ เพราะว่าหมดแล้ว ไม่มีแล้ว ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ก็สามารถรู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้

     ข้อที่น่าคิดที่ไม่ควรจะลืม คือ ถ้าปัญญาไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้แล้ว ปัญญาจะรู้อะไร ถึงแม้ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ความจริงเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ลองพิจารณาดูค่ะ มีใครว่าจริง หรือมีใครว่าไม่จริงบ้าง

   บุต สาวงษ์:   จริงเรื่องอะไรครับ

   แม่สุจินต์:    ที่ว่ามีรูปปรากฏ เฉพาะส่วนที่กระทบสัมผัสเท่านั้น ส่วนอื่นไม่เหลือเลย ทุกคนขณะนี้คงจำไว้ได้ว่า มีทั้งแขน ทั้งขา ทั้งหน้า ทั้งตัว ตรงที่เคยเป็นแขน ถ้าไม่กระทบสัมผัสขณะนี้ มีใครรู้ว่ามีอะไรปรากฏตรงนั้นบ้าง ทั้งศีรษะ คิ้ว ตา จมูก ปาก จริงหรือไม่จริงคะ ต้องพิสูจน์ ต้องพิจารณา แม้ขณะนี้จะเป็นจริงอย่างนี้ ก็ไม่ยอมละการยึดถือที่เคยยึดถือว่ายังมีเราอยู่ วิปัสสนาญาณเป็นการประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมอย่างนี้ตามปกติ แต่ที่ขณะนี้ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แม้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ คือว่าไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากรูปตรงที่ปรากฏเท่านั้น เพราะไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นลักษณะของรูปที่ปรากฏเมื่อมี เมื่อกระทบสัมผัสเท่านั้นเอง ขณะใดที่ไม่กระทบสัมผัส รูปที่มีปัจจัยเกิดขึ้นก็เกิดแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ปรากฏเลย

     ถ้าเข้าใจความจริงอย่างนี้ เวลาที่สัมมาสติเกิดระลึก ก็จะมีเฉพาะลักษณะของรูปที่ปรากฏตรงที่สติระลึกเท่านั้น  เมื่อมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะทำให้ค่อยๆคลายความเป็นตัวตนลง

     วิปัสสนาญาณที่รู้แจ้งสภาพธรรมก็รู้จริงด้วยปัญญาที่สามารถคลายความเป็นตัวตนได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องทำอะไรเลยที่ผิดปกติ เพราะแม้ขณะนี้ที่เห็นก็ไม่มีใครทำ แต่มีปัจจัยที่จะให้สภาพนี้เกิดขึ้นทำหน้าที่เห็น ขณะนี้ไม่มีตัวตนที่จะทำหน้าที่ของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดได้เลย เมื่อสภาพธรรมใดมีปัจจัยเกิดขึ้นก็ทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ ต้องเริ่มเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่มีเราที่ทำอะไรเลย แต่ว่ามีสภาพธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้น แล้วก็ทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ

     โดยการฟัง ทุกคนเข้าใจว่า เห็นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แล้วเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ของใคร ได้ยินก็เป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้นได้ยินเสียง บังคับไม่ให้ได้ยินก็ไม่ได้ เมื่อมีปัจจัย ได้ยินต้องเกิด ได้ยินแล้วก็ดับไป ถ้าเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมเพิ่มขึ้นๆ ก็จะไม่มีเรา 

     เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็มีสภาพธรรม เป็นสภาพธรรมทั้งหมด แต่ยังไม่รู้จริงๆว่า เป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็ต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะรู้จริงค่ะ




อาจารย์ บุต สาวงษ์ สนทนาธรรม กับ แม่สุจินต์ ภาคที่ ๓/๕

 


อาจารย์ บุต สาวงษ์ สนทนาธรรม กับ แม่สุจินต์ ภาคที่๓/๕

บุต สาวงษ์:   ถามในตัวปัญญาที่กำหนดรู้อุปาทานขันธ์ทุกข์ ในสติปัฏฐาน ๔ กายอยู่ในกาย  การเจริญปัญญาเพื่อกำหนดรู้ คือ มีปัญญากำหนดอุปาทานขันธ์ทุกข์ และมีคำถามว่า การกำหนดรู้เป็นตัวปัญญานี้ ก็เป็นอุปาทานขันธ์ทุกข์ด้วย การเจริญปัญญานี้ก็ชื่อว่า การเจริญสภาพธรรมเป็นทุกข์ด้วย เพราะว่าปัญญาก็จัดอยู่ในอุปาทานขันธ์ทุกข์ด้วย หรืออย่างไรครับ เพราะการเจริญปัญญาเป็นการกำหนดรู้รูปธรรมนามธรรม การกำหนดเป็นปัญญานี้ก็เป็นสภาพธรรม แล้วก็อยู่ในอุปาทานขันธ์ทุกข์ด้วย เพราะฉะนั้นก็เหมือนการเจริญทุกข์ด้วย หรือเป็นอย่างไรครับ

   แม่สุจินต์:   ปัญญามีหลายระดับ ปัญญามีทั้งโลกียปัญญาและโลกุตตรปัญญา ถ้ายังไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะนั้นก็เป็นปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นขันธ์ เป็นอุปาทานขันธ์

    เพราะฉะนั้นตราบใดที่ปัญญายังไม่ถึงระดับโลกุตตระ ก็ยังไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    ปัญญาที่เป็นไปในทาน ในศีล ในสมถภาวนา ไม่สามารถดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งไม่ใช่ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นภาวนา จึงจะเป็นขั้นที่ออกจากสังสารวัฏได้

   บุต สาวงษ:์   เป็นปกติผู้เจริญสติปัฏฐาน บางครั้งก็มีมโนทวารปิดบังปัญจทวาร คือ ปิดบังไม่ให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง บางครั้งก็เป็นมโนทวารปิดบังปัญจทวารด้วย ข้อความนี้เป็นอย่างไรครับ เพื่อผู้ปฏิบัติในสติปัฏฐาน อย่าหลงในสภาพธรรม เชิญคุณแม่ขยายความนี้ครับ

   แม่สุจินต์:   ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา กำลังเห็น แต่ไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะเห็นคน เห็นสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้นความคิดนึกเรื่องคน เรื่องสิ่งต่างๆ จากสิ่งที่มองเห็นก็ปิดบัง ไม่ให้เห็นความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมที่ปรากฏสั้นมาก เกิดแล้วก็ดับไป คือ ความคิดนึกทางมโนทวารปิดบังปัญจทวาร

    ทุกคนมีความรู้สึกว่าเห็นตลอดเวลา แท้ที่จริงแล้วมีมโนทวารวิถีเกิดสืบต่อระหว่างจิตที่เห็น จิตที่ได้ยินทางปัญจทวารแต่ละวาระ

    เพราะฉะนั้นพอพูดถึงทางตา  ทุกคนก็รู้ กำลังเห็น ทางหู ทุกคนก็รู้ กำลังได้ยิน  ถ้าเป็นได้กลิ่นดอกไม้หอมๆ ก็เป็นทางจมูก รสอร่อยๆที่ปรากฏหรือไม่อร่อย ก็เป็นรูปที่ปรากฏทางลิ้น ขณะนี้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ก็ปรากฏทางกาย แต่ไม่รู้เลยว่า หลังจากทางปัญจทวารวาระหนึ่งวาระใด ทวารหนึ่งทวารใด ดับแล้ว มโนทวารวิถีต้องเกิดสืบต่อทันที หลังจากที่ภวังคจิตคั่นแล้ว

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้เองเหมือนกับเห็นแล้วก็ได้ยิน มโนทวารอยู่ที่ไหนไม่ทราบ ในขณะที่ปัญจทวารเกิดดับสืบต่อกันปรากฏ โดยมีมโนทวารคั่น จึงไม่ประจักษ์ลักษณะของมโนทวาร จะรู้ได้เข้าใจได้ก็ขณะที่ไม่มีทางปัญจทวารเกิดเลย แล้วก็มีแต่สภาพคิดนึก ถึงจะเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นมโนทวาร

   บุต สาวงษ:์    สติปัฏฐานอาจจะเป็นไปทางปัญจทวารได้หรือไม่

   แม่สุจินต์:   ขณะนี้มีทางตาและทางหู สติเกิดหรือเปล่าคะ ถ้าสติปัฏฐานเกิด สติปัฏฐานนั้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไร

   บุต สาวงษ์:     ในทีนี้คืออยากจะถามว่า สติปัฏฐานอาจจะเป็นไปในปัญจทวารที่เป็นกุศลชวนะอยู่ในทางตา ทางหู ได้หรือไม่ครับ

   แม่สุจินต์:   การเข้าใจ สภาพธรรมขณะนี้มีจริงๆ เพราะฉะนั้นก็สามารถเข้าใจได้ว่า กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏและมีจิตที่เห็นในขณะนี้ เป็นสภาพรู้ สติปัฏฐานเกิดหรือเปล่า ไม่ใช่เราพูดเรื่องราว แต่หมายความว่า ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งสามารถจะเข้าใจได้ ถ้าจะพูดถึงเรื่องสติปัฏฐานทางปัญจทวาร เกิดได้ไหม ก็ต้องเข้าใจว่า ขณะนี้กำลังเห็นเป็น ๑ ในปัญจทวาร หรือขณะที่กำลังได้ยิน ก็เป็น ๑ ในปัญจทวาร ขณะที่กำลังสิ่งที่กระทบอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ก็เป็น ๑ ในปัญจทวาร สติปัฏฐานเกิดหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมต้องไตร่ตรองสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วย ไม่ใช่เพียงฟังแล้วก็คิดว่า จะต้องตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ต้องพิจารณาว่า เป็นความจริงหรือไม่ ถ้าสติปัฏฐานเกิดในขณะนี้ สติปัฏฐานจะระลึกรู้อะไร ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด นามธรรมและรูปธรรมเมื่อกี้นี้ก็ดับไปโดยเปล่าประโยชน์ คือ ไม่มีใครรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นถ้าสติปัฏฐานเกิด ไม่ใช่ระลึกรู้อย่างอื่น แต่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆในขณะนี้ทางหนึ่งทางใด

    เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานซึ่งเป็นมหากุศลจิตที่เกิดทางมโนทวาร ไม่ใช่พร้อมกับปัญจทวารซึ่งรูปกำลังปรากฏ เมื่อสติปัฏฐานเกิดจึงตามรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด แต่ไม่ใช่ทวารเดียวกัน

    ในขณะที่สติปัฏฐานทางมโนทวารเกิดขึ้นรู้ลักษณะของรูป ก็เป็นการรู้รูปที่ปรากฏทางหนึ่งทางใดในปัญจทวาร ถ้าระลึกรู้นามธรรม ก็นามธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อแล้วยังปรากฏลักษณะของสภาพธรรมนั้นให้ศึกษา ให้เข้าใจถูกว่า นั่นเป็นลักษณะของนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม การเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรมเร็วมาก ขณะนี้ที่กำลังเห็น มีใครสามารถบอกได้ว่า ทางปัญจทวารหรือจักขุทวารดับไปแล้ว ภวังค์เกิดคั่นแล้ว มโนทวารก็รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ มีใครสามารถจะแยก ๒ ทวารนี้ได้

    ขณะที่อ่อนหรือแข็งกำลังปรากฏ แล้วสติระลึกลักษณะที่ปรากฏ  มีใครบอกได้ว่า ลักษณะนั้นปรากฏทางทวารไหน เพราะปัญญาที่จะรู้ความต่างของมโนทวารและปัญจทวาร ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องถามผู้ที่ศึกษาธรรมว่า มหากุศลจิตเกิดได้กี่ทวาร

   บุต สาวงษ:์   ๖ ทวารครับ

   แม่สุจินต์:   ค่ะ คำตอบมีแล้ว ๖ ทวาร เพราะฉะนั้นก็จะรู้ว่า ขณะไหนซึ่งปัญจทวารมีมหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิด เพราะว่ารู้ลักษณะของรูปธรรม ขณะใดที่สติปัฏฐานระลึกเพื่อจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่า ไม่มีสภาพธรรมทางปัญจทวาร ทวารหนึ่งทวารใดปรากฏให้รู้ แต่หมายความว่ามโนทวารก็ต้องมี ปัญจทวารก็ต้องมี เมื่อทางมโนทวารค่อยๆเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขึ้น มหากุศลจิตที่รู้ลักษณะของรูปก็ต้องรู้ชัดเจน โดยสภาพที่มีความเข้าใจถูกในลักษณะของรูปธรรมนั้นด้วย

   บุต สาวงษ์:   ถามว่า การเจริญสติปัฏฐานต้องมีศีลก่อน หรือไม่มีศีลก็เจริญสติปัฏฐานได้ ขอให้คุณแม่ตอบปัญหานี้ให้ชัดเพื่อเกิดความเข้าใจ ไม่มีความสงสัยครับ

   แม่สุจินต์:  มีศีล แต่ไม่มีปัญญา ก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้.




อาจารย์ บุต สาวงษ์ สนทนาธรรม กับ แม่สุจินต์ ภาคที่๒/๕

 

อาจารย์ บุต สาวงษ์ สนทนาธรรม กับ แม่สุจินต์ ภาคที่๒/๕

บุต สาวงษ์:  นี้ก็เป็นคำถามถ้าหาก คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา แต่เฉพาะโลภเจตสิกไม่เป็นทุกขสัจจะ คือ เป็นสมุทัยสัจจะ ถามว่าที่โลภะไม่ใช่ทุกขสัจจะและเป็นทุกข์อย่างไร เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และในสัจจะนี้ โลภะที่ไม่ใช่ทุกขสัจจะ เป็นสมุทัยสัจจะ เพราะฉะนั้นโลภะนี้เป็นทุกข์อย่างไร

แม่สุจินต์:  พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เป็น ๑ ไม่เป็น ๒  คือเมื่อตรัสอย่างไร ความจริงก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อทรงแสดงว่า สังขารธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์ คำนี้ไม่ผิดเลย ต้องถูก เพราะว่าสภาพธรรมใดก็ตามที่มีเหตุปัจจัยเกิด แล้วจะไม่ดับนั้นไม่มีเลย

     เพราะฉะนั้นสังขารธรรมทั้งหมดเป็นทุกข์ แม้แต่โลกุตตรจิตที่เกิดแล้วดับก็เป็นทุกข์ แต่ในการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้อริยสัจธรรม ก็จะต้องทราบด้วยว่า การที่จะเข้าใจสภาพธรรม ต้องเข้าใจในธรรมที่เป็นผลและในธรรมที่เป็นเหตุด้วย เช่น ในขณะนี้ที่ปัญญาจะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นยังไม่มีการที่โลกุตตรจิตจะเกิดให้ระลึกรู้ แม้ว่าโลกุตตรจิตก็เป็นทุกข์ เพราะว่าเป็นสังขารธรรมเกิดดับด้วยเช่นกัน แต่เว้น เพราะเหตุว่าตามความเป็นจริง คือ ไม่มีโลกุตตรจิตที่จะเกิดให้เห็น พิจารณาว่าเป็นทุกข์

     เพราะฉะนั้นสำหรับจิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นจิตอะไร เช่น จิตที่มีราคะ สราคจิตตัง หรือจิตที่ปราศจากราคะ ซึ่งก็ได้แก่โลภะนั่นเอง ขณะนั้นก็พิจารณาได้ ไม่ใช่ไม่ได้

     เพราะฉะนั้นทั้งหมดต้องถูกต้องที่ว่า สังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดแล้วดับ เป็นทุกข์ แต่อะไรเป็นเหตุของทุกข์ ในบรรดาสภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดต้องมีเหตุ เพราะฉะนั้นเหตุของทุกข์ทั้งหมดก็ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ทรงแสดงไว้เพื่อให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่เห็นลักษณะของโลภะ ยังไม่ละโลภะ ก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

     เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ทรงแสดงตามเหตุตามผล ตามกิจการงาน เช่น ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้หรือควรพิจารณาให้รู้ความจริง ในขณะที่อบรมเจริญปัญญาต้องมีปัญญาที่จะเห็นโลภะซึ่งเป็นเหตุของทุกข์ด้วย มิฉะนั้นก็ละโลภะไม่ได้เลย

     เพราะฉะนั้นโลภะไม่ใช่สิ่งที่ควรจะต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เหตุ แต่ชี้ให้เห็นว่า โลภะนั่นเองเป็นเหตุของทุกข์ทั้งมวล ถ้าไม่เห็นอย่างนี้ ก็ไม่มีการละโลภะ

     การละโลภะ ไม่ใช่ใครอยากจะละก็ละได้ แต่ต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้วถึงสามารถที่จะเห็นโลภะและละโลภะได้ การละโลภะต้องละตามลำดับด้วย คือ ต้องละโลภะที่เกิดกับความเห็นผิดในการอบรมเจริญปัญญาด้วย เพราะบางคนก็เข้าใจผิดว่า หนทางนั้นจะทำให้ปัญญาเกิดได้ แต่ความจริงนั่นไม่ใช่หนทาง เพราะเข้าใจผิดได้

     การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องละโดยตลอดด้วยความรู้ และความรู้นั้นจึงละได้  มิฉะนั้นถ้าไม่มีความรู้เกิดขึ้นก็ไม่มีอะไรจะละโลภะ หรืออกุศลได้เลย ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาแล้วไม่มีความรู้ความเข้าใจเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าปัญญาต้องเป็นความเห็นถูกที่เริ่มจากการฟังและเข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยสติเกิดแล้วระลึกรู้ลักษณะของสภาพนั้น   ขณะนั้นจึงจะเป็นปัญญา

     การรู้การเข้าใจอริยสัจ ๔ ไม่ใช่เพียงแต่รู้ชื่อ เช่น รู้ว่าอริยสัจมี ๔ ได้แก่ ทุกขอริยสัจจะ สมุทัยอริยสัจจะ นิโรธสัจจะ และมรรคสัจจะ ไม่ใช่เพียงการจำชื่อได้ หรือท่องชื่อได้ แต่ต้องเป็นความเข้าใจในอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาขั้นฟังอย่างละเอียด เพราะเหตุว่าข้อความในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า อริยสัจทั้ง ๔ ลึกซึ้งมาก ยากที่จะเห็นได้ เพื่อไม่ให้พุทธบริษัทเข้าใจผิดคิดว่า การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจะทั้ง ๔ ง่าย ก็ได้ทรงแสดงอริยสัจธรรม ๔ ไว้ ๓ รอบ คือ สัจญาณ กิจญาณ และกตญาณในอริยสัจทั้ง ๔  แสดงให้เห็นว่า ยากหรือง่ายคะ ต้องมีความเข้าใจอย่างถูกต้องจริงๆ จึงสามารถอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

     ถ้าไม่เข้าใจสัจญาณ กิจญาณ และกตญาณของอริยสัจ ก็จะเข้าใจผิดคิดว่า ตนเองสามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้.





บุต สาวงษ์ สนทนาธรรม กับ แม่สุจินต์ ภาคที่๑/๕

 


บุต สาวงษ์ สนทนาธรรม กับ แม่สุจินต์ ที่ ๑/๕

บุต สาวงษ:์  ในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานกับสมถกัมมัฏฐาน ทั้ง ๒ นี้ ธรรมข้อใดข้อหนึ่งที่ถึงพระนิพพานได้รวดเร็วกว่า

แม่สุจินต์:  สมถภาวนาคือการอบรมจิตให้สงบจากอกุศลมั่นคงขึ้น ผลก็คือสามารถเกิดเป็นพรหมบุคคลได้ แต่ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาที่รู้จักลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริงก็ไม่มีทางจะถึงนิพพานได้เลย สภาพธรรมกำลังปรากฏแท้ๆ ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้นิพพานได้อย่างไร?

บุต สาวงษ:์  ขอให้คุณแม่ช่วยขยายความคำถาม กามราคะและกามุปาทาน ต่างกันอย่างไรครับ?

แม่สุจินต์:  ต่างกันที่อุปาทานเป็นการยึดถือในกามนั้นเอง

บุต สาวงษ์:  แล้วกามราคะครับ ?

แม่สุจินต์:  ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

บุต สาวงษ์:  ก็เป็นอุปาทานด้วยใช่ไหมครับ?

แม่สุจินต์:  ขณะใดที่มีความยึดมั่น ขณะนั้นก็เป็นอุปาทาน

บุต สาวงษ:์  ถามในวิภวตัณหา ที่แปลว่า ตัณหาที่ปราศจากภพ ทำไมถึงจัดเป็นตัณหาด้วย?

แม่สุจินต์:  ข้อความในพระไตรปิฎกแสดงว่า วิภวตัณหา ได้แก่ ความยินดีในความเห็นผิดว่า สูญ

บุต สาวงษ์:  คำถามนี้คือในขณะที่มีวิปัสสนา วิปัสสนาที่เป็นโลกียะที่อาจจะทำให้มีวิบากเป็นไปในภพด้วยหรือไม่ครับ?

แม่สุจินต์:  ถ้าตราบใดที่ไม่ใช่โลกุตตรภูมิ กุศลนั้นๆก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดภพได้

บุต สาวงษ์:  ขอถามถึงธรรมขั้นสูง คือ พระนิพพาน มีอยู่ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย มีพระพุทธพจน์แสดงถึงพระนิพพานเป็นอายตนะ แต่อายตนะนั้นไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ เป็นต้น ไม่ใช่เป็นที่ไป ไม่ใช่เป็นที่มา ถามว่า อายตนะนั้นเป็นอายตนะอะไรครับ มีบางท่านก็กล่าวว่า ธัมมายตนะเป็นพระนิพพาน ถูกต้องหรือไม่ครับ?

แม่สุจินต์:  สภาพธรรมทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่า สภาพธรรมนั้นจะจัดเป็นประเภทใด สำหรับนิพพานเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่สามารถจะรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่สามารถรู้ได้ทางใจ จึงเป็นธัมมายตนะ

บุต สาวงษ์:   มีคำถามนิดหนึ่ง โลภะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๓ นี้ ธรรมใดน่าจะละง่ายกว่ากัน

แม่สุจินต์:  ถ้าถามถึง ๓ อย่าง สำหรับพระอนาคามีบุคคลสามารถละโทสะได้ สำหรับโลภะกับโมหะต้องเป็นพระอรหันต์ค่ะ

บุต สาวงษ์:   มีสำนักปฏิบัติบางสำนักกล่าวว่า นั่งเป็นรูป รู้ว่านั่งเป็นนาม เป็นอย่างไรครับ?

แม่สุจินต์:  ถ้าบอกว่า นั่งเป็นรูป แล้วรูปเป็นอย่างไรคะ?

บุต สาวงษ์:  ไม่มีคำตอบ

แม่สุจินต์:  ค่ะ ก็ต้องทราบก่อนว่า รูปคืออะไร รูปเป็นอย่างไร รูปมีจริงหรือเปล่า สิ่งที่มีจริงและไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ไม่ว่าจะมองเห็นหรือมองไม่เห็น เป็นรูปธรรมทั้งหมด เพราะเหตุว่าไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ต้องรู้อย่างนี้ก่อนที่จะพูดว่า นั่งเป็นรูป ก็ต้องรู้ว่า รูปเป็นอย่างไร จะได้ทราบว่า อะไรเป็นรูปบ้าง วันนี้ก็คงจะมีการบ้าน ขณะนี้มีรูปไหมค่ะ?

บุต สาวงษ์:  มีครับ

แม่สุจินต์:  อะไรบ้างล่ะคะที่เป็นรูป ต้องรู้ก่อน

บุต สาวงษ์:  รูปที่กำลังเห็น และอยู่ในกายก็มีการตึง ไหว นี่เป็นรูป

แม่สุจินต์:  เสียงเป็นรูปหรือเปล่าคะ

บุต สาวงษ:์  เป็นรูปครับ

แม่สุจินต์:  ก็เข้าใจถูกต้องนะคะว่า สิ่งที่มีลักษณะจริงๆที่ปรากฏ แต่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลยเป็นรูป ถ้าไม่มีตา จะเห็นรูปไหมค่ะ

บุต สาวงษ์:  ไม่เห็นครับ

แม่สุจินต์:  ถ้าไม่มีหู ได้ยินเสียงรูปไหมคะ ไม่ใช่เป็นเสียงของรูป แต่เสียงนั่นเองเป็นรูป รูปที่ตาเห็นกับรูปที่หูได้ยิน เหมือนกันไหมค่ะ

บุต สาวงษ์:  ไม่เหมือนกันครับ

แม่สุจินต์:  ไม่เหมือนกัน ก็มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า รูปมีหลายอย่าง แล้วแต่ละอย่างก็ปรากฏได้แต่ละทาง

บุต สาวงษ์:   ตัตตรมัชฌัตตตาและอุเปกขา ทั้ง ๒ นี้ต่างกันอย่างไรครับ และเกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานหรือไม่ครับ

แม่สุจินต์:  ตัตตรมัชฌัตตตาเป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเป็นโสภณเจตสิก ลักษณะของตัตตรมัชฌัตตตาก็คือสภาพที่เป็นกลาง ไม่เป็นไปในอกุศลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลย ขณะที่เกิดพร้อมกับสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรมอื่นๆ ลักษณะของตัตตรมัชฌัตตตาก็ทำให้เป็นกุศลในขณะนั้น

    ตามธรรมดาจิตย่อมตกไปด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง หวั่นไหวไปในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นเวลาที่ธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้น ก็มีตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งขณะนั้นก็เป็นสภาพที่ไม่หวั่นไหว เป็นกลาง จึงเป็นกุศลได้

    ความไม่หวั่นไหว ความเป็นกลางของตัตตรมัชฌัตตตาก็มีลักษณะที่เป็นอุเบกขา คือ เหมือนกับการที่วางเฉย

    เพราะฉะนั้นคำว่า “อุเบกขา” กว้าง หมายถึงความรู้สึกซึ่งไม่สุข ไม่ทุกข์ก็ได้  ขณะนั้นก็เป็นเวทนาเจตสิก แต่วันหนึ่งๆ ก็เห็นสัตว์ บุคคลที่เป็นทุกข์ เป็นสุขมาก เพราะฉะนั้นถ้าเป็นตัตตรมัชฌัตตตาก็คือว่า วางเฉยด้วยการเข้าใจในเรื่องกรรมของแต่ละสัตว์นั้น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่รู้สึกเฉยๆ หรือวางเฉย ไม่หวั่นไหว เป็นเวทนาเจตสิกก็ได้ เป็นตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกก็ได้ เป็นปัญญาเจตสิกก็ได้ในการอบรมเจริญวิปัสสนา แต่ต้องเป็นสังขารุเปกขาญาณ

    เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่า สภาพธรรมเกิดร่วมกัน แล้วก็มีหลายระดับ เพราะฉะนั้นเวลาที่สภาพธรรมใดมีหน้าที่อย่างใด ในระดับไหน ก็กระทำหน้าที่ในระดับนั้น.





July 30, 2017

๓๙.เรื่องเทวหิตพราหมณ์

เรื่องเทวหิตพราหมณ์



พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภปัญหาของเทวหิตพราหมณ์  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ปุพฺเพนิวาสํ  เป็นต้น

ในสมัยหนึ่ง  พระศาสดา  ทรงอาพาธด้วยพระวาโย(ลม)กำเริบ  ทรงส่งพระอุปวานเถระไปขอน้ำร้อนจากเทวหิตพราหมณ์   พราหมณ์นั้นมีความดีใจมากที่นานครั้งจะได้มีโอกาสถวายสิ่งของแด่พระศาสดา  ดังนั้นนอกจากจะถวายน้ำร้อนมาแล้ว  พราหมณ์นั้นก็ยังถวายน้าอ้อยมาพร้อมกันด้วย   เมื่อกลับมาถึงวัดพระเชตวันแล้ว   หลังจากที่ทรงสงน้ำแล้ว  พระอุปวานะก็ได้น้อมถวายน้ำร้อนและน้ำอ้อย   เมื่อพระศาสดาทรงเสวยของทั้งสองอย่างเข้าไปแล้วอาการพระวาโยกำเริบก็หายไป  ต่อมาพราหมณผู้นั้นได้มาเฝ้าพระศาสดาและกราบทูลถามว่า  “บุคคลควรให้ไทยธรรมในบุคคลไหน ?  ไทยธรรมวัตถุอันบุคคลให้ในบุคคลไหน ?  จึงมีผลมาก   ทักษิณาของบุคคลผู้บูชาอยู่อย่างไรเล่า ? จะสำเร็จได้อย่างไร ?”  พระศาสดาตรัสว่า “ไทยธรรมวัตถุ  ที่บุคคลให้แก่พราหมณ์ผู้เช่นนี้  ย่อมมีผลมาก”

เมื่อจะตรัสบอกบุคคลผู้เป็นพราหมณ์แก่พราหมณ์นั้น  จึงตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ปุพฺเพนิวาสํ  เย  เวทิ
สคฺคาปายญฺจ  ปสฺสติ
อโถ  ชาติกฺขยํ  ปตฺโต
อภิญฺญา  โวสิโต  มุนิ
สพฺพโวสิตโวสานํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ  ฯ

บุคคลรู้ขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน
ทั้งเห็นสวรรค์และอบาย
อนึ่ง  บรรลุความสิ้นไปแห่งชาติ
เสร็จกิจแล้ว  เพราะรู้ยิ่ง
เป็นมุนี  เราเรียกบุคคลนั้น
ซึ่งมีพรหมจรรย์อันอยู่เสร็จสรรพแล้ว
ว่าเป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น แม้พราหมณ์มีจิตเลื่อมใส ตั้งอยู่ในสรณะสาม ประกาศตนเป็นอุบาสกแล้ว.