KEATHADHAMMABOTHTHAI

nousambath855@gmail.com

เรียบเรียงโดย จงฺกมรกฺขิโต นู สมบัติ keathadhammaboththai.blogspot.com

อ่านเรื่องในคาถาธรรมบท ๓๐๒ เรื่อง บล็กนี้เรียบเรียงโดย ภิกฺขุ จงฺกมรกฺขิโต นู สมบัติ ขออนุโมทนาบุญทุกย่าง ! Email: nousambath855@gmail.com

May 12, 2018

บุต สาวงษ์ สนทนาธรรม กับ แม่สุจินต์ ภาคที่๑/๕

Posted by   on Pinterest



บุต สาวงษ์ สนทนาธรรม กับ แม่สุจินต์ ที่ ๑/๕

บุต สาวงษ:์  ในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานกับสมถกัมมัฏฐาน ทั้ง ๒ นี้ ธรรมข้อใดข้อหนึ่งที่ถึงพระนิพพานได้รวดเร็วกว่า

แม่สุจินต์:  สมถภาวนาคือการอบรมจิตให้สงบจากอกุศลมั่นคงขึ้น ผลก็คือสามารถเกิดเป็นพรหมบุคคลได้ แต่ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาที่รู้จักลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริงก็ไม่มีทางจะถึงนิพพานได้เลย สภาพธรรมกำลังปรากฏแท้ๆ ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้นิพพานได้อย่างไร?

บุต สาวงษ:์  ขอให้คุณแม่ช่วยขยายความคำถาม กามราคะและกามุปาทาน ต่างกันอย่างไรครับ?

แม่สุจินต์:  ต่างกันที่อุปาทานเป็นการยึดถือในกามนั้นเอง

บุต สาวงษ์:  แล้วกามราคะครับ ?

แม่สุจินต์:  ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

บุต สาวงษ์:  ก็เป็นอุปาทานด้วยใช่ไหมครับ?

แม่สุจินต์:  ขณะใดที่มีความยึดมั่น ขณะนั้นก็เป็นอุปาทาน

บุต สาวงษ:์  ถามในวิภวตัณหา ที่แปลว่า ตัณหาที่ปราศจากภพ ทำไมถึงจัดเป็นตัณหาด้วย?

แม่สุจินต์:  ข้อความในพระไตรปิฎกแสดงว่า วิภวตัณหา ได้แก่ ความยินดีในความเห็นผิดว่า สูญ

บุต สาวงษ์:  คำถามนี้คือในขณะที่มีวิปัสสนา วิปัสสนาที่เป็นโลกียะที่อาจจะทำให้มีวิบากเป็นไปในภพด้วยหรือไม่ครับ?

แม่สุจินต์:  ถ้าตราบใดที่ไม่ใช่โลกุตตรภูมิ กุศลนั้นๆก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดภพได้

บุต สาวงษ์:  ขอถามถึงธรรมขั้นสูง คือ พระนิพพาน มีอยู่ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย มีพระพุทธพจน์แสดงถึงพระนิพพานเป็นอายตนะ แต่อายตนะนั้นไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ เป็นต้น ไม่ใช่เป็นที่ไป ไม่ใช่เป็นที่มา ถามว่า อายตนะนั้นเป็นอายตนะอะไรครับ มีบางท่านก็กล่าวว่า ธัมมายตนะเป็นพระนิพพาน ถูกต้องหรือไม่ครับ?

แม่สุจินต์:  สภาพธรรมทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่า สภาพธรรมนั้นจะจัดเป็นประเภทใด สำหรับนิพพานเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่สามารถจะรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่สามารถรู้ได้ทางใจ จึงเป็นธัมมายตนะ

บุต สาวงษ์:   มีคำถามนิดหนึ่ง โลภะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๓ นี้ ธรรมใดน่าจะละง่ายกว่ากัน

แม่สุจินต์:  ถ้าถามถึง ๓ อย่าง สำหรับพระอนาคามีบุคคลสามารถละโทสะได้ สำหรับโลภะกับโมหะต้องเป็นพระอรหันต์ค่ะ

บุต สาวงษ์:   มีสำนักปฏิบัติบางสำนักกล่าวว่า นั่งเป็นรูป รู้ว่านั่งเป็นนาม เป็นอย่างไรครับ?

แม่สุจินต์:  ถ้าบอกว่า นั่งเป็นรูป แล้วรูปเป็นอย่างไรคะ?

บุต สาวงษ์:  ไม่มีคำตอบ

แม่สุจินต์:  ค่ะ ก็ต้องทราบก่อนว่า รูปคืออะไร รูปเป็นอย่างไร รูปมีจริงหรือเปล่า สิ่งที่มีจริงและไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ไม่ว่าจะมองเห็นหรือมองไม่เห็น เป็นรูปธรรมทั้งหมด เพราะเหตุว่าไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ต้องรู้อย่างนี้ก่อนที่จะพูดว่า นั่งเป็นรูป ก็ต้องรู้ว่า รูปเป็นอย่างไร จะได้ทราบว่า อะไรเป็นรูปบ้าง วันนี้ก็คงจะมีการบ้าน ขณะนี้มีรูปไหมค่ะ?

บุต สาวงษ์:  มีครับ

แม่สุจินต์:  อะไรบ้างล่ะคะที่เป็นรูป ต้องรู้ก่อน

บุต สาวงษ์:  รูปที่กำลังเห็น และอยู่ในกายก็มีการตึง ไหว นี่เป็นรูป

แม่สุจินต์:  เสียงเป็นรูปหรือเปล่าคะ

บุต สาวงษ:์  เป็นรูปครับ

แม่สุจินต์:  ก็เข้าใจถูกต้องนะคะว่า สิ่งที่มีลักษณะจริงๆที่ปรากฏ แต่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลยเป็นรูป ถ้าไม่มีตา จะเห็นรูปไหมค่ะ

บุต สาวงษ์:  ไม่เห็นครับ

แม่สุจินต์:  ถ้าไม่มีหู ได้ยินเสียงรูปไหมคะ ไม่ใช่เป็นเสียงของรูป แต่เสียงนั่นเองเป็นรูป รูปที่ตาเห็นกับรูปที่หูได้ยิน เหมือนกันไหมค่ะ

บุต สาวงษ์:  ไม่เหมือนกันครับ

แม่สุจินต์:  ไม่เหมือนกัน ก็มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า รูปมีหลายอย่าง แล้วแต่ละอย่างก็ปรากฏได้แต่ละทาง

บุต สาวงษ์:   ตัตตรมัชฌัตตตาและอุเปกขา ทั้ง ๒ นี้ต่างกันอย่างไรครับ และเกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานหรือไม่ครับ

แม่สุจินต์:  ตัตตรมัชฌัตตตาเป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเป็นโสภณเจตสิก ลักษณะของตัตตรมัชฌัตตตาก็คือสภาพที่เป็นกลาง ไม่เป็นไปในอกุศลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลย ขณะที่เกิดพร้อมกับสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรมอื่นๆ ลักษณะของตัตตรมัชฌัตตตาก็ทำให้เป็นกุศลในขณะนั้น

    ตามธรรมดาจิตย่อมตกไปด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง หวั่นไหวไปในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นเวลาที่ธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้น ก็มีตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งขณะนั้นก็เป็นสภาพที่ไม่หวั่นไหว เป็นกลาง จึงเป็นกุศลได้

    ความไม่หวั่นไหว ความเป็นกลางของตัตตรมัชฌัตตตาก็มีลักษณะที่เป็นอุเบกขา คือ เหมือนกับการที่วางเฉย

    เพราะฉะนั้นคำว่า “อุเบกขา” กว้าง หมายถึงความรู้สึกซึ่งไม่สุข ไม่ทุกข์ก็ได้  ขณะนั้นก็เป็นเวทนาเจตสิก แต่วันหนึ่งๆ ก็เห็นสัตว์ บุคคลที่เป็นทุกข์ เป็นสุขมาก เพราะฉะนั้นถ้าเป็นตัตตรมัชฌัตตตาก็คือว่า วางเฉยด้วยการเข้าใจในเรื่องกรรมของแต่ละสัตว์นั้น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่รู้สึกเฉยๆ หรือวางเฉย ไม่หวั่นไหว เป็นเวทนาเจตสิกก็ได้ เป็นตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกก็ได้ เป็นปัญญาเจตสิกก็ได้ในการอบรมเจริญวิปัสสนา แต่ต้องเป็นสังขารุเปกขาญาณ

    เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่า สภาพธรรมเกิดร่วมกัน แล้วก็มีหลายระดับ เพราะฉะนั้นเวลาที่สภาพธรรมใดมีหน้าที่อย่างใด ในระดับไหน ก็กระทำหน้าที่ในระดับนั้น.





No comments:
Write comments