เรื่องฉัตตปาณิอุบาสก
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภอุบาสกชื่อฉัตตปาณิ ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 51 นี้
อุบาสกคนหนึ่งชื่อฉัตตปาณิ เป็นผู้ทรงจำพระไตรปิฎก และเป็นผู้บรรลุพระอนาคามี อยู่ในกรุงสาวัตถี ครั้งหนึ่งขณะที่ฉัตตปาณิอุบาสกไปเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตวันและได้ตั้งใจฟังธรรมของพระศาสดาโดยเคารพอยู่นั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จมาเฝ้าพระศาสดาเหมือนกัน ฉัตตปาณิอุบาสกไม่ยอมลุกขึ้นถวายความต้อนรับเพราะคิดว่าการลุกขึ้นต้อนรับพระราชานั้นก็เท่ากับว่าทำความเคารพพระราชานั่นเอง ซึ่งก็จะเป็นการไม่ถวายความเคารพในพระศาสดา พระเจ้าปัสเสนทิโกศลถือว่าเป็นการหมิ่นพระเกียรติยศและทรงพิโรธมาก พระศาสดาทรงทราบเป็นอย่างดีถึงความรู้สึกของพระเจ้าปเสนทิโกศล จึงได้ตรัสยกย่องฉัตตปาณิอุบาสกว่ามีความรู้ในเรื่องธรรมะดีมากและเป็นผู้บรรลุพระอนาคามิผล เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลสดับเช่นนี้แล้วก็ทรงมีความประทับใจและทรงแสดงความชื่นชมในตัวของฉัตตปาณิอุบาสก
ต่อมาพระเจ้าปัสเสนทิโกศลได้ทรงพบกับฉัตตปาณิอุบาสกอีกครั้งหนึ่ง จึงตรัสว่า “ท่านเป็นผู้คงแก่เรียน อยากจะขอให้ท่านมาสอนธรรมให้แก่พระราชเทวีทั้งสองพระองค์จะได้หรือไม่” ฉัตตปาณิอุบาสกได้ปฏิเสธที่จะมาเอง แต่ก็ได้ทูลแนะนำว่าควรที่พระเจ้าปเสนทิโกศลจะได้กราบทูลพระศาสดา เพื่อทรงมอบหมายพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมาถวายความรู้แด่พระราชเทวีทั้งสองพระองค์ ดังนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้เสด็จไปทูลพระศาสดาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และพระศาสดาได้ทรงมอบหมายให้พระอานนนทเถระไปถวายความรู้ในพระราชวังแก่พระนางมัลลิกาและพระนางวาสภขัตติยาสองพระราชเทวี หลังจากนั้นต่อมาพระศาสดาก็ได้ตรัสถามพระอานนท์เกี่ยวกับความก้าวหน้าในการศึกษาธรรมะของทั้งสองราชเทวี พระอานนท์กราบทูลว่า พระนางมัลลิกาทรงสนพระทัยในการศึกษาเล่าเรียนธรรมะดีมาก แต่พระนางวาสภขัตติยาไม่สนพระทัยศึกษาเล่าเรียน เมื่อสดับคำกราบทูลนี้แล้วพระศาสดาตรัสว่า ธรรมะจะมีผลกับผู้ที่สนใจศึกษาเล่าเรียนด้วยความเคารพและนำสิ่งที่ศึกษาเล่าเรียนนั้นไปปฏิบัติเท่านั้น
จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 51 และพระคาถาที่ 52 ว่า
ยถาปิ รุจิรํ ปุปฺผํ
วณฺณวนฺตํ อคนฺธกํ
เอวํ สุภาสิตํ วาจา
อผลา โหติ อกุพฺพโตฯ
วาจาสุภาษิต ไม่มีผล
แก่คนที่ประพฤติตามสุภาษิตนั้น
เหมือนดอกไม้งาม
มีสีสันสวย แต่ไร้กลิ่นฯ
ยถาปิ รุจิรํ ปุปฺผํ
วณฺณวนฺตํ สคนฺธกํ
เอวํ สุภาสิตํ วาจา
สผลา โหติ สุกุพฺพโตฯ
วาจาสุภาษิต มีผล
แก่คนที่ประพฤติตามสุภาษิตนั้น
เหมือนดอกไม้งาม
มีสีสันสวย และมีกลิ่นหอม.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา เป็นประโยชน์แก่มหาชน.
No comments:
Write comments