เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น เตน ภิกขุ โส โหติ เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง พราหมณ์ผู้หนึ่ง บวชในศาสนาอื่นที่มิใช่พุทธศาสนา และเดินเที่ยวบิณฑบาต วันหนึ่ง พราหมณ์ผู้นี้คิดว่า พระสมณโคดมประกาศว่า ผู้ที่มีชีวิตจากการบิณฑบาตเรียกว่าภิกษุ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็น่าจะถูกเรียกว่าภิกษุได้เหมือนกัน เมื่อคิดดังนี้แล้ว พราหมณ์ก็ได้ไปเฝ้าพระศาสดา ทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แม้ข้าพเจ้าก็เที่ยวภิกษา เลี้ยงชีพอยู่ พระองค์จงเรียกแม้ข้าพเจ้าว่าภิกษุ” พระศาสดาตรัสกับพราหมณ์นั้นว่า “ พราหมณ์ เราหาเรียกว่า ภิกษุ เพราะอาการเพียงขอเขาไม่ เพราะผู้สมาทานธรรมอันเป็นพิษแล้วประพฤติอยู่ ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าภิกษุหาได้ไม่ ส่วนผู้ใดเที่ยวไปด้วยพิจารณาสังขารทั้งปวง ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ”
จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
น เตน ภิกฺขุ โส โหติ
ยาวตา ภิกฺขเต ปเร
วิสํ ธมฺมํ สมาทาย
ภิกฺขุ โหติ น ตาวตา ฯ
โยธ ปุญฺญญฺเจ ปาปญฺจ
วาเหตฺวา พฺรหฺมจริยวา
สงฺขาย โลเก จรติ
ส เว ภิกฺขูติ วุจฺจติ ฯ
บุคคลชื่อว่าเป็นภิกษุ
เพราะเหตุที่ขอกะคนพวกอื่นหามิได้
บุคคลสมาทานธรรมอันเป็นพิษ
ไม่ชื่อว่าภิกษุ ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น.
ผู้ใดในศาสนานี้
ลอยบาปและบุญได้แล้ว
ประพฤติพรหมจรรย์
รู้ธรรมในโลก ด้วยการพิจารณาเที่ยวไป
ผู้นั้นแลเราเรียกว่า ภิกษุ.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
No comments:
Write comments