เรื่องภิกษุผู้ไม่ยินดี
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้ไม่ยินดี(ในพรหมจรรย์) ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น กหาปณวสฺเสน เป็นต้น
ในสมัยหนึ่ง มีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งอยู่ที่วัดพระเชตวัน วันหนึ่ง พระอุปัชฌาย์ส่งให้ท่านไปศึกษาเล่าเรียนที่วัดอีกแห่งหนึ่ง ขณะที่ภิกษุรูปนี้ไปอยู่ที่วัดแห่งใหม่นั้น โยมบิดาของท่านเกิดป่วยหนักและได้เสียชีวิตในที่สุด ก่อนเสียชีวิตบิดาของภิกษุนี้ได้มอบทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 100 กหาปณะไว้กับโยมลุงของพระภิกษุนี้ไว้ เมื่อภิกษุรูปนี้ไปพบโยมลุงก็บอกว่าโยมพ่อของภิกษุได้เสียชีวิตไปแล้วและได้ฝากเงินไว้ให้เป็นจำนวน 100 กหาปณะ ในตอนแรกพระภิกษุนี้พูดว่าท่านไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินนี้ แต่ต่อมาท่านมีความเบื่อหน่ายในเพศบรรพชิต คิดอยากจะสึกออกไปเป็นฆราวาส ไม่ยอมศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ร่างกายผ่ายผอม พวกภิกษุหนุ่มและสามเณรน้อยเห็นผิดปกติ จึงเข้าไปสอบถาม เมื่อได้ความว่าอยากจะสึก จึงนำความนั้นไปเรียนอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของพระภิกษุนั้น อาจารย์และอุปัชฌาย์ จึงนำพระภิกษุนั้นไปเข้าเฝ้าพระศาสดา
พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่าเป็นความจริงหรือไม่ที่ไม่ต้องการจะบวชเป็นภิกษุอยู่ต่อไป และมีเงินทุนสำหรับเริ่มชีวิตการเป็นฆราวาสแล้วหรือยัง พระภิกษุนั้นกราบทูลว่าต้องการจะสึกจริงและมีเงินทุนสำหรับเริ่มชีวิตของฆราวาสจำนวน 100 กหาปณะแล้ว พระศาสดาได้ทรงอธิบายให้ภิกษุนั้นฟังว่า ในการดำเนินชีวิตเป็นฆราวาสนั้น จะต้องมีอาหาร มีโคสำหรับใช้สอย มีพืช มีแอกและไถ มีจอบเสียม มีมีดขวาน เป็นต้น พระศาสดาลองให้พระภิกษุนั้นคำนวณดูว่าเงินทุนที่มีอยู่จำนวน 100 กหาปณะนั้นพอที่จะนำไปซื้อสิ่งของต่างๆดังกล่าวหรือไม่ และเมื่อภิกษุนั้นคำนวณแล้วปรากฏว่าเงินที่มีอยู่ไม่เพียงพอ พระศาสดาจึงตรัสว่า “ภิกษุ กหาปณะของเธอมีน้อยนัก เธออาศัยกหาปณะเหล่านั้น จักให้ความทะยานอยากเต็มขึ้นได้อย่างไร?” และพระองค์ได้นำเรื่องของพระเจ้ามันธาตุราชในมันธาตุราชชาดกมาเล่าว่า “ได้ยินว่า ในอดีตกาล บัณฑิตทั้งหลาย ครองจักรพรรดิราชสมบัติ สามารถจะยังฝนคือรัตนะ 7 ประการให้ตกลงมาเพียงสะเอวในที่ประมาณ 12 โยชน์ ด้วยการกระทำเพียงปรบมือ แม้ครองราชสมบัติในเทวโลก ตลอดกาลที่ท้าวสักกะ 36 พระองค์จุติไป ในเวลาตาย ก็ยังความอยากให้เต็มไม่ได้ เลย ได้ทำกาละแล้ว”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
น กหาปณวสฺเสน
ติตฺติ กาเมสุ วิชฺชติ
อปฺปสฺสาทา ทุกฺขา กามา
อิติ วิญญาย ปณฺฑิโต.
อปิ ทิพเพสุ กาเมสุ
รตึ โส นาธิคจฺฉติ
ตญฺหกฺขยรโต โหติ
สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก ฯ
ความอิ่มในกามทั้งหลาย
ย่อมไม่มีเพราะฝนคือกหาปณะ
กามทั้งหลายมีรสอร่อย มีทุกข์มาก
บัณฑิตรู้แจ้งดังนี้แล้ว ย่อมไม่ถึงความยินดี
ในกามทั้งหลายแม้ที่เป็นทิพย์
พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธจ้า
ย่อมเป็นผู้ยินดีในความสิ้นไปแห่งตัณหา.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุนั้น บรรลุโสดาปัตติผล พระธรรมเทศนามีประโยชน์แก่บริษัทที่มาประชุมกันแล้ว.
No comments:
Write comments