เรื่องภิกษุชาวนครภัททิยะ
พระศาสดา เมื่ออาศัยนครภัททิยะ ประทับอยู่ในชาติยาวัน ทรงปรารภภิกษุชาวนครภัททยะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยํ หิ กิญจิ เป็นต้น
ในสมัยนั้น พวกภิกษุนครภัททิยะ ทำการประดับเขียงเท้าชนิดต่างๆ โดยทำด้วยหญ้าปล้องบ้าง ทำด้วยหญ้ามุงกระต่ายบ้าง ทำด้วยต้นเป้งบ้าง ทำด้วยผ้ากัมพลบ้าง เมื่อมามัวแต่พะวงด้วยงานเหล่านี้อยู่ ก็ไม่เป็นอันศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย การปฏิบัติธรรม ทั้งฝ่ายสมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน ภิกษุทั้งหลาย ตำหนิโทษของการกระทำดังกล่าวของภิกษุเหล่านั้น และได้กราบทูลพระศาสดา
พระศาสดา ตรงติเตียนภิกษุเหล่านั้น ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมาด้วยกิจอย่างหนึ่ง แต่มาขวยขวายในกิจอีกอย่างหนึ่ง”
ยํ หิ กิจฺจํ ตทปวิทฺธํ
อกิจฺจํ ปน กยีรติ
อุนฺนนาฬํ ปมตฺตานํ
เตสํ วฑฺฒนฺติ อาสวา ฯ
เยสญฺจ สุสมารทฺธา
นิจฺจํ กายคตา สติ
อกิจฺจํ เต น เสวนฺติ
กิจฺเจ สาตจฺจการิโน
สตานํ สมปชานานํ
อตฺถํ คจฺฉนฺติ อาสวา ฯ
ก็ ภิกษุละทิ้งสิ่งที่ควรทำ
แต่ย่อมทำสิ่งที่ไม่ควรทำ
อาสวะทั้งหลาย ย่อมเจริญแก่ภิกษุเหล่านั้น
ผู้มีมานะประดุจไม้อ้ออันยกขึ้นแล้ว ผู้ประมาทแล้ว.
ส่วนสติอันไปในกาย อันภิกษุเหล่าใด ปรารภด้วยดีเป็นนิตย์
ภิกษุเหล่านั้น มีปกติทำเนืองๆในกิจที่ควรทำ
ย่อมไม่เสพสิ่งที่ไม่ควรทำ
อาสวะทั้งหลาย ของภิกษุเหล่านั้น
ผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุเหล่านั้น บรรลุอรหัตตผลแล้ว พระธรรมเทศนา มีประโยชน์ แม้แก่บุคคลที่มาประชุมกัน.
No comments:
Write comments