เรื่องนางปฏาจารา
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระปฏาจาราเถรี ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 113 นี้
นางปฏาจารา เป็นธิดาเศรษฐีผู้มีสมบัติ 40 โกฏิในกรุงสาวัตถี เป็นหญิงรูปงามมาก ในตอนที่นางมีอายุ 16 ปี แม้ว่ามารดาบิดาจะเคร่งครัดมากถึงกับกักตัวให้ไปอยู่บนปราสาท 7 ชั้น แต่นางก็ไม่วายจะมีความสัมพันธ์ลับๆกับคนใช้ของนางคนหนึ่ง และในที่สุดทั้งสองคนก็ได้หนีตามกันไปอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ช่วยกันทำมาหากินตามประสายากจน เมื่ออยู่ร่วมฉันสามีภรรยากันมาไม่นาน นางก็ตั้งครรภ์บุตรคนแรก เมื่อครรภ์แก่ใกล้จะคลอดนางได้ขออนุญาตสามีจะเดินทางกลับไปคลอดบุตรในเรือนของบิดามารดาในกรุงสาวัตถี แต่สามีคัดค้านไม่ให้ไป วันหนึ่งตอนที่สามีไม่อยู่นางแอบได้เดินทางกลับไปที่กรุงสาวัตถีโดยลำพังและได้คลอดบุตรในระหว่างทาง สามีได้ติดตามไปพบแล้วนำตัวนางกับลูกกลับมาอยู่ที่หมู่บ้านตามเดิม
ต่อมานางก็ตั้งครรภ์บุตรคนที่สอง และเมื่อครรภ์แก่นางก็ได้ลักลอบเดินทางจะกลับไปที่บ้านพ่อแม่ของนางที่กรุงสาวัตถีโดยได้พาบุตรคนแรกตามไปด้วย ข้างสามีก็ได้ติดตามนางไปเพื่อจะตามให้กลับ แต่แม้จะอ้อนวอนอย่างไรนางก็ไม่ยอมกลับ
ในที่สุดนางก็เกิดปวดท้องคลอดขึ้นมาอย่างกะทันหัน และในขณะเดียวกันก็ได้เกิดพายุฝนตกลงมาอย่างหนัก สามีจึงต้องออกหาที่สำหรับให้ภรรยาคลอดฉุกเฉิน ขณะที่เขากำลังถือมีดเดินหาที่เหมาะสำหรับให้ภรรยาคลอดอยู่นั้น ก็ได้เห็นจอมปลวกแห่งหนึ่งเป็นทำเลที่เหมาะมาก เขาจึงเอามีดถางหญ้าให้เตียน และก็เผอิญมีอสรพิษตัวหนึ่งเลื้อยออกมาจากจอมปลวกกัดเขาจนเสียชีวิต นางปฏาจารามองทางรอคอยสามีกลับมาและในที่สุดก็ได้คลอดบุตรคนที่สองออกมา พอถึงรุ่งเช้านางก็ใช้มือข้างหนึ่งอุ้มบุตรที่คลอดใหม่เข้าสะเอว และใช้มืออีกข้างหนึ่งจูงบุตรออกเที่ยวเดินหาสามีจนไปพบศพนอนตายอยู่ที่ข้างจอมปลวก นางรำพึงรำพันว่าที่สามีมาตายครั้งนี้ก็เพราะนางแท้ๆ และนางก็ได้เดินทางต่อเพื่อจะไปที่นครสาวัตถี
นางไปถึงแม่น้ำอจิรวดี เห็นน้ำขึ้นมากอยู่ในระดับราวนมเนื่องจากฝนตกหนักตลอดคืนยังรุ่ง จึงเป็นไปไม่ได้ที่นางจะเดินข้ามแม่น้ำโดยพาบุตรสองคนไปพร้อมๆกัน นางจึงใช้วิธีปล่อยบุตรคนโตไว้ที่ริมตลิ่ง แล้วอุ้มบุตรที่คลอดใหม่อายุแค่วันเดียวข้ามไปก่อน แล้ววางทารกไว้ที่ริมตลิ่งอีกฟากหนึ่ง จากนั้นนางก็ได้ข้ามน้ำกลับไปเพื่อจะพาบุตรคนโตข้ามมาอีก แต่ขณะที่นางอยู่กลางแม่น้ำนั่นเอง ก็มีเหยี่ยวใหญ่ตัวหนึ่งบินมาเห็นทารกนอนอยู่ที่ริมตลิ่งคิดว่า เป็นชิ้นเนื้อจึงบินโฉบลงมา นางเห็นเช่นนั้นจึงป้องปากไล่นกให้ตกใจแต่ก็ไม่เป็นผล ข้างบุตรคนโตได้ยินมารดาตะโกนไล่นกเข้าใจว่ามารดาเรียกตนให้ลงไปหา จงเดินลงน้ำและได้ถูกกระแสน้ำพัดหายไป ด้วยเหตุนี้นางปฏาจาราจึงสูญเสียบุตรทั้งสองคนและสามีในเวลาไล่เลี่ยกัน
นางปฏาจาราเดินร้องไห้รำพันว่า “บุตรของเราคนหนึ่งถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป คนหนึ่งถูกน้ำพัดพาไป สามีก็มาตายเสียเพราะถูกงูพิษกัดในที่เปลี่ยว” นางมาพบชายผู้หนึ่งเดินมาแต่กรุงสาวัตถี จึงถามถึงบิดามารดา ชายผู้นั้นตอบว่า เนื่องจากเมื่อคืนนี้ฝนตกหนักมาก บ้านของบิดาของนางได้พังถล่มลงมาทับทั้งพ่อแม่และพี่ชายของนางเสียชีวิตทั้งหมด และศพของคนทั้งสามได้ถูกเผารวมกันในเชิงตะกอนเดียวกันเรียบร้อยไปแล้ว พอนางปฏาจาราได้ข่าวร้ายซ้ำเติมเข้ามาอีก ก็ถึงกับวิกลจริต เดินโซซัดโซเซร้องไห้รำพันบ่นเพ้อไปว่า “บุตร 2 คนตายเสียแล้ว สามีของเรา ก็ตายเสียที่ทางเปลี่ยว มารดาบิดาและพี่ชายก็ถูกเผาบนเชิงตะกอนอันเดียวกัน” นางไม่รู้สึกตัวแม้ว่าผ้านุ่งจะหลุดลุ่ยออกจากกาย วิ่งกระเซอะกระเซิง ปากร้องตะโกนรำพึงรำพันไปตามถนนสายต่างๆ ผู้คนพบเห็นต่างก็ใช้ก้อนดินก้อนหินขว้างปาไล่นางให้หนีไป
พระศาสดาประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางพุทธบริษัท 4 ในเชตวันมหาวิหาร ได้ทอดพระเนตรเห็นนางผู้บำเพ็ญบารมีมาแสนกัป เดินมาแต่ไกล พระองค์ดำริว่า “เว้นเราเสีย ผู้อื่นชื่อว่าสามารถจะเป็นที่พึ่งของหญิงผู้นี้ได้ ไม่มี” จึงได้ดลจิตให้นางเดินทางไปสู่พระเชตวัน เหล่าพุทธบริษัทเมื่อเห็นนางมาจึงพยายามขวัดขวางมิให้นางเข้าไปในวัด แต่พระศาสดาตรัสว่า “พวกท่านจงหลีกไป อย่าห้ามเธอเลย” เมื่อนางเข้ามาใกล้ จึงตรัสว่า “จงกลับได้สติเถิด น้องหญิง” นางกลับได้สติด้วยพุทธานุภาพ เกิดความละอายใจที่ร่างกายท่อนล่างไม่ได้สวมใส่อะไร จึงนั่งคุกเขาลง ชายผู้หนึ่งจึงได้โยนผ้าห่มไปให้นาง นางนุ่งผ้าห่มนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แทบพระบาททั้งสอง ทูลว่า “ ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พึงแก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า เพราะว่าเหยี่ยวเฉี่ยวบุตรคนหนึ่งของหม่อมฉันไป คนหนึ่งถูกน้ำพัดพาไป สามีตายที่ทางเปลี่ยว มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนถล่มทับ ถูกเผาบนเชิงตะกอนอันเดียวกัน”
พระศาสดาตรัสกับนางว่า “อย่าคิดเลย ปฏาจารา เธอมาสู่สำนักของเราผู้สามารถจะเป็นที่พึ่งพำนักอาศัยของเธอได้แล้ว ตลอดสังสารวัฏนี้ น้ำตาที่ไหลออกของเธอผู้ร้องไห้อยู่เมื่อปิยชนทั้งหลาย คือ บุตร สามี บิดามารดา และพี่ชาย เสียชีวิตไปนี้ มีปริมาณมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง 4 เสียอีก” จากนั้นพระศาสดาได้ทรงแสดง อนมตัคคสูตร ทำลายความเศร้าโศกของนางให้เบาบางลง ต่อแต่นั้นได้ตรัสเตือนว่า “ปฏาจารา ขึ้นชื่อว่าปิยชนมีบุตรเป็นต้น ไม่อาจเป็นที่ต้านทาน เป็นที่พึ่ง หรือเป็นที่ป้องกันของผู้ไปสู่ปรโลกได้ เพราะฉะนั้น บุตรเป็นต้นเหล่านั้นถึงมีอยู่ ก็ชื่อว่าย่อมไม่มีทีเดียว ส่วนบัณฑิตชำระศีลแล้ว ควรชำระทางที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพานของตนเท่านั้น” เมื่อได้สดับเช่นนี้แล้วนางปฏาจาราก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล
เมื่อนางได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีแล้ว จึงมีชื่อว่า “ปฏาจารา” (แปลว่า ผู้กลับความประพฤติได้ หรือ ผู้มีความประพฤติเว้นจากผืนผ้า) วันหนึ่ง นางเอาหม้อตักน้ำล้างเท้าเทน้ำลงไป ในครั้งแรกน้ำไหลไปได้เพียงนิดหน่อยก็หยุด ครั้งที่สองน้ำที่นางเทลงไปไหลไปได้ไกลกว่าครั้งแรก และครั้งที่สาม น้ำที่เทลงไปไหลไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น นางได้ถือเอาการไหลไปของน้ำเป็นคติสอนใจ ให้เห็นความจริงเกี่ยวกับวัยทั้ง 3 ของสัตว์ทั้งหลาย ว่า “สัตว์ทั้งหลาย ตายเสียในปฐมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งแรก ตายเสียในมัชฌิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งสอง ไหลไปไกลกว่าครั้งแรก ตายเสียในปัจฉิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เทลงครั้งที่สาม ไปได้ไกลกว่าครั้งที่สอง”
พระศาสดาประทับในพระคันธกุฎี ทรงแผ่พระรัศมีไป เป็นดังประทับยืนตรัสอยู่เฉพาะหน้าของนาง ตรัสว่า “ปฏาจารา เป็นอย่างนั้น ด้วยว่าความเป็นอยู่วันเดียวก็ดี ขณะเดียวก็ดี ของผู้เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งปัญจขันธ์เหล่านั้น ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ 100 ปี ของผู้ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งปัญจขันธ์”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 113 ว่า
โย จ วสฺสสตํ ชีเว
อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย
ปสฺสโต อุทยพฺพยํฯ
ผู้ไม่เห็นความเกิดดับ
ถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี
สู้ผู้ที่เห็นความเกิดดับ
มีชีวิตอยู่แค่วันเดียว ไม่ได้.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง นางปฏาจารา ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.
No comments:
Write comments