เรื่องอสทิสทาน
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภอสทิสทาน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น เว กทริยา เทวโลกํ วชนฺติ เป็นต้น
ในสมัยหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงถวายมหาทานแด่พระศาสดาและภิกษุทั้งหลาย พวกชาวเมืองซึ่งเป็นพสกนิกรของพระราชา ต้องการแข่งขันการให้ทานกับราชา จึงได้จัดพิธีให้ทานที่ยิ่งใหญ่กว่าทานของพระราชา และทั้งสองฝ่ายได้แข่งขันถวายทานกันยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด พระนางมัลลิกาเทวี พระมเหสีของพระราชา ได้ทรงคิดแผนการให้ทานที่ยิ่งใหญ่เพื่อให้ชนะทานของชาวเมือง และพระนางก็ได้ดำเนินแผนนั้น โดยได้ทูลพระราชาให้ทรงสร้างมณฑปที่นั่งขนาดใหญ่สำหรับเป็นที่นั่งของภิกษุสงฆ์ 500 รูป กับให้ทรงสร้างเศวตฉัตร 500 คัน และตระเตรียมช้าง 500 เชือก คอยถือเศวตฉัตร 500 คันกั้นอยู่เบื้องบนศีรษะของภิกษุสงฆ์ 500 รูปนั้น ที่ตรงกลางมณฑปขนาดใหญ่นั้น ทรงให้สร้างเรือทองคำสีสุกใสไว้ 8-10 ลำ เรือแต่ละลำบรรจุไว้ด้วยของหอมที่บดโดยบรรดาเจ้าหญิงทั้งหลาย และก็ยังเตรียมเจ้าหญิงจำนวน 250 องค์ไว้คอยนั่งพัดภิกษุสงฆ์องค์ละ 2 รูป เมื่อการเตรียมการทั้งหลายสำเร็จเสร็จสิ้นตามแผนแล้ว ก็ได้มีการถวายมหาทาน มหาทานครั้งนี้มีความยิ่งใหญ่หาทานอื่นใดเทียบมิได้ จึงเรียกชื่อว่า อสทิสทาน ซึ่งตำราบอกว่า อสทิสทานนี้มีแก่พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระองค์ละครั้งเท่านั้น และเป็นทานที่มีสตรีเป็นผู้จัดแจงเพื่อถวายพระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลมีอำมาตย์ 2 คน คนหนึ่งชื่อกาฬะ อีกคนหนึ่งชื่อชุณหะ กาฬอำมาตย์ มีความเห็นว่า การทำทานอันยิ่งใหญ่ของพระราชา ทรงใช้งบประมาณถึง 14 โกฏิ เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ พระภิกษุสงฆ์ฉันแล้วก็ไม่ทำการงานอะไร ฉันแล้วก็กลับวัดไปนอนหลับในกุฏิเท่านั้นเอง ส่วนชุณหอำมาตย์เห็นด้วยกับมหาทานที่พระราชาทรงจัดทำในครั้งนี้ และได้กล่าวอนุโมทนาทานนี้ ในที่สุดภัตกิจของพระศาสดา พระราชาทรงรับบาตรเพื่อให้พระศาสดาตรัสอนุโมทนา พระศาสดาทรงทราบว่ากาฬอำมาตย์ไม่เห็นด้วยกับมหาทานครั้งนี้ และหากพระองค์ทรงกล่าวอนุโมทนกถาชมเชยมหาทานยืดยาวนักก็จะไปขัดใจกาฬอำมาตย์ และจะส่งผลให้กาฬอำมาตย์โกรธและไปตกนรกได้ พระศาสดาต้องการจะอนุเคราะห์แก่กาฬอำมาตย์จึงตรัสอนุโมทนกถาแต่เพียงสั้นๆ จากนั้นได้เสด็จกลับพระเชตวัน
พระราชามีพระประสงค์จะให้พระศาสดาทรงกล่าวอนุโมทนกถายาวๆ แต่เมื่อพระศาสดาทรงกล่าวอนุโมทนกถาสั้นๆเช่นนี้ ก็มีความสงสัยว่าได้ทรงดำเนินการขาดตกบกพร่องอะไรไปหรือไม่ จึงเสด็จไปทูลถามพระศาสดา พระศาสดาตรัสกับพระราชาว่า “ “มหาบพิตร พระองค์ถวายทานอันสมควรแล้วทีเดียว ก็ทานนั่น ชื่ออสทิสทาน ใครๆอาจเพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ครั้งเดียวเท่านั้น ธรรมดาทานเห็นปานนี้ เป็นของยากที่บุคคลจะถวายอีก” แต่ที่พระองค์ทรงกล่าวอนุโมทนกถาสั้นๆนั้นเพราะ “บริษัทไม่บริสุทธิ์” และได้ตรัสบอกถึงความคิดคัดค้านทานของกาฬอำมาตย์ และความคิดเห็นด้วยกับทานของชุณหอำมาตย์ให้พระราชาทรงทราบ เมื่อพระราชาสืบสวนจนเป็นที่แน่ชัดแล้ว ก็รับสั่งให้เนรเทศกาฬอำมาตย์นั้นออกจากแว่นแคว้น และพระราชทานราชทรัพย์ให้แก่ชุณหอำมาตย์เพื่อจัดถวายทานเป็นเวลา 7 วัน กับได้ทรงมอบราชสมบัติให้ชุณหอำมาตย์ครอบครองเป็นเวลา 7 วันด้วย
จากนั้นพระราชาได้กราบทูลพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทอดพระเนตการทำของคนพาล เขาได้ให้ความลบหลู่ในทาน ที่หม่อมฉันถวายแล้ว”
พระศาสดาตรัสว่า “อย่างนั้น มหาบพิตร ขึ้นชื่อว่าพวกคนพาล ไม่ยินดีทานของผู้อื่น เป็นผู้มีทุคติเป็นที่ไป ณ เบื้องหน้า ส่วนนักปราชญ์อนุโมทนาทานแม้ของชนเหล่าอื่น จึงเป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไป ณ เบื้องหน้าโดยแท้”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
น เว กทริยา เทวโลกํ วชนฺติ
พาลา หเว นปฺปสํสนฺติ ทานํ
ธีโร จ ทานํ อนุโมทมาโน
เตเนวะ โส โหติ สุขี ปรตฺถ ฯ
พวกคนตระหนี่ จะไปสู่เทวโลกไม่ได้เลย
พวกชนพาลแล ย่อมไม่สรรเสริญทาน
ส่วนนักปราชญ์ อนุโมทนาทานอยู่
เพราะเหตุนั้นนั่นเอง
นักปราชญ์นั้น จึงเป็นผู้มีสุขในโลกหน้า.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชุณหอำมาตย์ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระธรรมเทศนามีประโยชน์แก่บริษัทผู้ประชุมกัน ชุณหอำมาตย์ ครั้นเป็นพระโสดาบันแล้ว ได้ถวายทานอย่างที่พระราชาถวายแล้วสิ้น 7 วันเหมือนกัน.
No comments:
Write comments