เรื่องสัมพหุลภิกษุ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุมากรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า เมตฺตาวิหารี เป็นต้น
พระโสณกุฏิกัณณเถระ ได้รับนิมนต์จากมหาอุบาสิกาโยมมารดา ให้ไปแสดงธรรมโปรด พระเถระได้ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ ที่สั่งทำเป็นพิเศษพร้อมด้วยมณฑป แสดงธรรมโปรดโยมมารดาและหมู่บริวารอยู่ที่บริเวณใจกลางเมือง ขณะจัดให้มีงานบุญครั้งนี้เป็นช่วงเวลากลางคืน พวกโจรได้ฉวยโอกาสตอนที่มหาอุบาสิกาและหมู่บริวารไม่อยู่บ้าน ทำการปล้นบ้านของมหาอุบาสิกา ทั้งนี้หัวหน้าโจรไปยืนคุมเชิงอยู่ในบริเวณงานแสดงธรรมนั้น ซึ่งเขาได้วางแผนไว้ว่า จะฆ่ามหาอุบาสิกาโยมมารดาของพระเถระนั้นทันที หากนางจะกลับมาบ้านก่อนที่พวกโจรจะปล้นเสร็จ หญิงคนใช้ในบ้านได้มาแจ้งข่าวเรื่องโจรเข้าปล้นบ้านให้มหาอุบาสิกาได้ทราบถึง 3 ครั้ง แต่นางก็มิได้ให้ความสนใจ มิหนำซ้ำยังขับไล่หญิงคนใช้นั้นกลับบ้านไปทุกครั้ง โดยนางบอกว่าอย่ามารบกวน นางกำลังฟังธรรมยังไม่จบ ฝ่ายนายโจรที่ยืนคุมเชิงอยู่นั้น ก็ได้ยินคำพูดที่มหาอุบาสิกากล่าวกับหญิงคนใช้ตลอด เกิดความประทับใจมาก ได้เดินออกจากบริเวณที่จัดงานนั้น ไปบอกบริวารโจรให้ขนเข้าของทั้งหมดกลับไปคืนที่บ้านของมหาอุบาสิกาดังเดิม จากนั้นได้กลับมาขออุปสมบทจากพระโสณกุฏิกัณณเถระ เมื่อพวกภิกษุอดีตโจรเหล่านี้นำหัวข้อพระกัมมัฏฐานจากพระโสณกุฏิกัณณเถระเดินทางเข้าป่าไปปฏิบัติธรรมอยู่ในที่สงัดแห่งหนึ่ง พระศาสดาได้แผ่พระรัศมีไปปรากฏอยู่เบื้องหน้าของภิกษุเหล่านี้ แล้วตรัสพระธรรมบท 9 พระคาถานี้ว่า
เมตฺตาวิหาริ โย ภิกฺขุ
ปสนฺโน พุทฺธสาสเน
อธิคจฺเฉ ปทํ สนฺตํ
สงฺขารูปสมํ สุขํ ฯ
สิญฺจ ภิกฺขุ อิมํ นาวํ
สิตฺตา เต ลหุเมสฺสติ
เฉตวา ราคัญฺจ โทสญฺจ
ตโต นิพฺพานเมหิสิ ฯ
ปญฺจ ฉินฺเท ปญฺจ ชเห
ปญจ จุตฺตริ ภาวเย
ปญฺจ สงฺคาติโต ภิกฺขุ
โอฆติณฺโณติ วุจฺจติ ฯ
ฌาย ภิกฺขุ มา จ ปมาโท
มา เต กามคุเณ ภมสฺสุ จิตฺตํ
มา โลหคุฬํ คิลี ปมตฺโต
มา กนฺที ทุกฺขมิทนฺติ ฑยฺหมาโน ฯ
นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส
ปญฺญา นตฺถิ อฌายโต
ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญา จ
ส เว นิพพานสนฺติเก ฯ
สุญฺญาคารํ ปวิฏฺฐสฺส
สนตจิตฺตสส ภิกฺขุโน
อมานุสี รตี โหติ
สมฺมา ธมฺมํ วิปสฺสโต ฯ
ยโต ยโต สมฺมสติ
ขนธานํ อุทยพฺพยํ
ลภตี ปีติปาโมชฺชํ
อมตํ ตํ วิชานตํ ฯ
ตตฺรายมาทิ ภวติ
อิธ ปญฺญสฺส ภิกฺขุโน
อินฺทริยคุตฺติ สนฺตุฏฺฐี
ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร
มิตฺเต ภชสฺสุ กลฺยาเณ
สุทฺธาชีเว อตนฺทิเต ฯ
ปฏิสนฺถารวุตฺยสฺส
อาจารกุสโล สิยา
ตโต ปาโมชฺชพหุโล
ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ ฯ
ภิกษุใด มีปกติอยู่ด้วยเมตตา
เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ภิกษุนั้น พึงบรรลุบทอันสงบ
เป็นที่เข้าไประงับสังขาร อันเป็นสุข.
ภิกษุ เธอจงวิดเรือนี้
เรือที่เธอวิดแล้ว จักถึงเร็ว
เธอตัดราคะและโทสะได้แล้ว
แต่นั้นจักถึงพระนิพพาน.
ภิกษุพึงตัดธรรม 5 อย่าง
พึงละธรรม 5 อย่าง
และพึงยังคุณธรรม 5 ให้เจริญยิ่งๆขึ้น
ภิกษุผู้ล่วงกิเลสเครื่องข้อง 5 อย่างได้แล้ว
เราเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้.
ภิกษุ เธอจงเพ่งและอย่าประมาท
จิตของเธออย่าหมุนไปในกามคุณ
เธออย่าเป็นผู้ประมาทกลืนกินก้อนแห่งโลหะ
เธออย่าเป็นผู้อันกรรมแผดเผาอยู่
คร่ำครวญว่า นี้ทุกข์.
ฌานย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่มีปัญญา
ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน
ฌานและปัญญาย่อมไม่มีในบุคคลใด
บุคคลนั้นแล ตั้งอยู่ในที่ใกล้นิพพาน.
ความยินดีมิใช่ของมีอยู่แห่งมนุษย์
ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เข้าไปแล้วสู่เรือนว่าง
ผ็มีจิตสงบแล้ว ผู้เห็นแจ้งธรรมอยู่โดยชอบ”
ภิกษุพิจารณาอยู่ ซึ่งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป
แห่งสังขารทั้งหลายโดยอาการใดๆ
เธอย่อมได้ปีติและปราโมทย์โดยอาการนั้นๆ
การได้ปีติและปราโมทย์นั้น
เป็นธรรมอันไม่ตายของผู้รู้แจ้งทั้งหลาย.
ธรรมนี้ คือความคุ้มครองซึ่งอินทรีย์ 1
ความสันโดษ 1 ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ 1
เป็นเบื้องต้นในธรรมอันไม่ตายนั้น
มีอยู่แก่ภิกษุผู้มีปัญญาในพระศาสนานี้.
เธอจงคบมิตรที่ดีงาม มีอาชีวะอันหมดจด
ไม่เกียจคร้าน ภิกษุพึงเป็นผู้ประพฤติในปฏิสันถาร
พึงเป็นผู้ฉลาดในอาจาระ
เพราะเหตุนั้น เธอจักเป็นผู้มากด้วยปีติปราโมทย์
กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
เมื่อพระธรรมบทแต่ละพระคาถาจบลง ภิกษุ 100 รูป(ในจำนวน 900 รูป)บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภทาทั้งหลาย.
No comments:
Write comments