เรื่องเรือนจำ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภเรือนจำ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น ตํ ทฬฺหํ เป็นต้น
วันหนึ่ง ภิกษุ 30 รูปจากชนบท เข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ขณะที่ภิกษุเหล่านี้เดินบิณฑบาตอยู่นั้น ได้ผ่านไปทางเรือนจำแห่งหนึ่ง ก็ได้แลเห็นพวกโจรถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำคือ ขื่อ คา เชือกและตรวน เป็นต้น เมื่อเข้าไปเฝ้าพระศาสดาในตอนเย็น ได้กราบทูลถามว่า “ พระเจ้าข้า วันนี้ พวกข้าพระองค์ กำลังเที่ยวไปบิณฑบาต เห็นโจรเป็นอันมาก ในเรือนจำ ถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำคือขื่อเป็นต้น เสวยทุกข์มาก พวกเขา ย่อมไม่อาจเพื่อจะตัดเครื่องจองจำเหล่านั้นหนีไปได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่าเครื่องจองจำชนิดอื่น ที่มั่นคงกว่าเครื่องจองจำเหล่านั้น มีอยู่หรือหนอ ?”
พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เครื่องจองจำเหล่านั้น จะชื่อว่าเครื่องจองจำอะไร ส่วนเครื่องจองจำคือกิเลส กล่าวคือ ตัณหา ในสวิญญาณกทรัพย์ และอวิญญาณกทรัพย์ทั้งหลาย มีทรัพย์คือ ข้าวเปลือก บุตร และภรรยาเป็นต้น เป็นเครื่องจองจำที่มั่นคงกว่า เครื่องจองจำคือขื่อเป็นต้นเหล่านั้น ร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า แต่โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย ตัดเครื่องจองจำแม้ชนิดใหญ่ ที่ตัดได้ยากเหล่านี้ เข้าไปบวชอยู่ในป่าหิมพานต์ได้” และได้ทรงนำอดีตนิทานเรื่องพระโพธิสัตว์ตัดความอาลัยรักในภรรยาและบุตรมาเล่า ว่า เมื่อท่านออกไปบวชยังอภิญญาให้เกิดเล่นฌานอยู่ในป่าหิมพานต์นั้น ท่านได้เปล่งอุทานว่า “เครื่องผูกคือบุตรและภรรยา เครื่องผูกคือกิเลส อันบุคคลตัดได้โดยยาก ชื่อแม้เห็นปานนี้ เราได้ตัดแล้ว”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
น ตํ ทฬฺหํ พนฺธนมาหุ ธีรา
ยทายสํ ทารุชปพฺพชญฺจ
สารตฺตรตฺตา มณิกุณฑเลสุ
ปุตฺเตสุ ทาเรสุ จ ยา อเปกฺขา ฯ
เอตํ ทฬฺหํ พนฺธนมาหุ ธีรา
โอหารินํ สิถิลทุปฺปมุญฺชํ
เอตํปิ เฉตฺวาน ปริพฺพชนฺติ
อนเปกฺขิโน กามสุขํ ปหาย ฯ
เครื่องจองจำใด เกิดแต่เหล็ก เกิดแต่ไม้
และเกิดแต่หญ้าปล้อง
ผู้มีปัญญาทั้งหลาย หากล่าวเครื่องจองจำนั้น
ว่าเป็นของมั่นคงไม่.
ความกำหนัดใด ของชนทั้งหลายผู้กำหนัดยินดียิ่งนัก
ในแก้วมณีและหุ้มหูทั้งหลาย และความเยื่อใยในบุตร ในภรรยาทั้งหลายใด
นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวความกำหนัดและความเยื่อใยนั่นว่า
เป็นเครื่องจองจำอันมั่นคง มีปกติเหนี่ยวลง อันหย่อนแต่เปลื้องได้โดยยาก
นักปราชญ์ทั้งหลาย ตัดเครื่องผูกแม้นั้นแล้ว
เป็นผู้ไม่มีใยดี ละกามสุขแล้วบวช.
เมื่อการแสดงพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
No comments:
Write comments