เรื่องพระเอกุทานเถระ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระขีณาสพ(พระผู้สิ้นกิเลส)ชื่อว่าเอกุทานเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น ตาวตา ธมฺมธโร เป็นต้น
พระเอกุทานเถระ (พระเถระมีคำอุทานบทเดียว) พำนักอยู่ในป่าแห่งหนึ่งองค์เดียว ท่านชอบกล่าวคำอุทานกถาบทเดียวนี้ว่า “ความโศกทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีจิตมั่นคง ไม่ประมาท เป็นมุนี ศึกษาในทางโมนปฏิบัติ ผู้คงที่ ระงับแล้ว มีสติทุกเมื่อ” พอถึงวันอุโบสถ ท่านพระเอกุทานเถระก็จะป่าวประกาศให้ผู้คนทั้งหลายมาฟังธรรมกัน แล้ว ท่านพระเอกุทานเถระก็จะกล่าวอุทานกถาบทนี้ และเมื่อท่านเอกุทานเถระกล่าวอุทานกถาบทนี้จบลง พวกเทวดาในป่าก็จะส่งเสียงสาธุการดังสนั่นหวั่นไหว ต่อมา ในวันอุโบสถวันหนึ่ง ภิกษุทรงจำพระไตรปิฎก 2 รูป พร้อมบริวารรูปละ 500 พากันไปยังสถานที่ท่านพระเอกุทานเถระพำนักอยู่นั้น พระเอกุทานเถระได้นิมนต์พระเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกทั้งสองรูปนั้นแสดงธรรม พระเถระทรงพระไตรปิฎกสองรูปนั้นได้ถามท่านพระเอกุทานเถระว่า ที่นี่มีคนฟังธรรมด้วยหรือ ท่านพระเอกุทานเถระเรียนว่า มีเทวดามาฟังธรรมและจะส่งเสียงสาธุการทุกครั้งที่การแสดงธรรมจบลง แต่พอพระทรงจำพระไตรปิฎกทั้งสององค์ผลัดกันแสดงธรรม พอการแสดงธรรมของแต่ละองค์จบลง ก็ไม่มีเสียงสาธุการของเทวดาทั้งหลายให้ได้ยิน พระทรงจำพระไตรปิฎกั้งสององค์เกิดความสงสัยในคำพูดของพระเอกุทานเถระที่บอกว่าเมื่อการแสดงธรรมจบลงก็จะมีเสียงเทวดาส่งเสียงสาธุการสนั่นหวั่นไหว แต่พระเอกุทานเถระก็ยังยืนยันอย่างแข็งขันว่า ที่ผ่านมาเมื่อการแสดงธรรมจบลงจะมีเสียงสาธุการของเทวดาในทุกครั้ง
ดังนั้น พระทรงจำพระไตรปิฎกทั้งสองรูป จึงขอให้พระเอกุทานเถระแสดงธรรมดูบ้าง พระเอกุทานเถระจึงได้จับพัดมาบังหน้าแล้วกล่าวอุทานกถาดังข้างต้นนั้น พอพระเอกุทานเถระกล่าวอุทานกถาบทนั้นจบลง ก็มีเสียงเทวดาส่งเสียงสาธุการดังสนั่นหวั่นไหว พระภิกษุบริวารของพระเถระผู้ทรงจำพระไตรปิฎกทั้งสององค์นั้น กล่าวหาว่าพวกเทวดาในป่าลำเอียง จึงได้นำความขึ้นกราบทูลพระศาสดา เมื่อเดินทางกลับมายังพระเชตวัน พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกผู้เรียนมากหรือพูดมากว่า เป็นผู้ทรงธรรม ส่วนผู้ใดเรียนคาถาแม้คาถาเดียวแล้วแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย ผู้นี้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม”
จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
น ตาวตา ธมฺมธโร
ยาวตา พหุ ภาสติ
โย จ อปฺปํปิ สุตฺวาน
ธมฺมํ กาเยน ปสฺสติ
ส เว ธมฺมธโร โหตุ
โย ธมฺมํ นปฺปมชฺชติ ฯ
บุคคล ไม่ชื่อว่าทรงธรรม
เพราะเหตุที่พูดมาก
ส่วนบุคคลใด ฟังแม้นิดหน่อย
ย่อมเห็นธรรมด้วยนามกาย
บุคคลใด ไม่ประมาทธรรม
บุคคลนั้นแล เป็นผู้ทรงธรรม.
No comments:
Write comments