เรื่องกุฎุมพีคนใดคนหนึ่ง
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภกุฎุมพีคนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปิยโต ชายเต เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง กุฏุมพีผู้หนึ่งเสียใจเมื่อบุตรถึงแก่ความตาย เขาจึงมักเข้าไปร้องไห้อยู่ในป่าช้า ในเช้าวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลก ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นว่ากุฎุมพีนั้นจักได้บรรลุโสดาปัตติผล เมื่อทรงกลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ทรงพาภิกษุผู้เป็นปัจฉาสมณะ(พระติดตาม)รูปหนึ่ง เสด็จไปที่ประตูบ้านของกุฎุมพีนั้น เมื่อกุฎุมพีทราบว่าพระศาสดาเสด็จมา จึงอัญเชิญพระศาสดาให้เสด็จเข้าบ้าน ปูอาสนะตรงกลางบ้าน เมื่อพระศาสดาประทับนั่งแล้ว ก็เข้าถวายบังคม แล้วนั่งลง ณ ส่วนข้างหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามกุฎุมพีว่ามีความทุกข์ด้วยเรื่องอะไร เมื่อกุฎุมพีตอบว่าทุกข์เพราะพรัดจากจากบุตรที่เสียชีวิต ตรัสว่า “อย่าคิดไปเลย อุบาสก ชื่อว่าความตายนี้ มิใช่มีอยู่ในที่เดียว และมิใช่มีจำเพาะแก่บุคคลเดียว ก็ชื่อว่าความเป็นไปของภพภูมิ ยังมีอยู่เพียงใด ความตายก็ย่อมมีแก่สรรพสัตว์เพียงนั้นเหมือนกัน แม้แต่สังขารอันหนึ่ง ที่ชื่อว่าเที่ยง ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น ท่านพึงพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายว่า ธรรมชาติมีความตายเป็นธรรมดา ตายเสียแล้ว ธรรมชาติมีความแตกเป็นธรรมดา แตกเสียแล้ว ก็ไม่พึงเศร้าโศก เพราะว่า โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย ในกาลที่ลูกตายแล้ว พิจารณาว่า ธรรมชาติมีความตายเป็นธรรมดา ตายเสียแล้ว ธรรมชาติมีความแตกเป็นธรรมดา แตกเสียแล้ว ดังนี้แล้ว ไม่ทำความเศร้าโศก เจริญมรณสติอย่างเดียว” ทรงนำอุรคชาดกมาตรัสเล่า ซึ่งมีความตอนหนึ่งเป็นคำปลุกปลอบใจแก่ตนเองของคนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักว่า คนตายก็เหมือนกับงูลอกคราบเก่าไปใช้คราบใหม่ คนเราเมื่อตายแล้ว ถูกนำไปเผา ไม่มีความรู้สึกใดๆแล้ว แม้พวกญาติจะไปร้องไห้คร่ำครวญถึง ก็ไม่รับรู้ทั้งสิ้น ดังนั้น เราไม่ควรแสดงความเศร้าโศกถึงคนที่ตายไปแล้ว เขาไปตามทางของเขา และได้ตรัสในตอนท้ายกับกุฎุมพีนั้นว่า “ท่านอย่าคิดว่า ลูกรักของเรากระทำกาละแล้ว แท้จริงความโศกก็ดี ภัยก็ดี เมื่อจะเกิด ย่อมอาศัยของรักนั่นเองเกิด”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ปิยโต ชายเต โสโก
ปิยโต ชายเต ภยํ
ปิยโต วิปฺปมุตฺตสฺส
นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ ฯ
ความโศก ย่อมเกิดแต่ของที่รัก
ภัย ย่อมเกิดแต่ของที่รัก
ความโศก ย่อมไม่มีแก่(ปลดเปลื้องได้จากของที่รัก
ภัยจักมีแต่ไหน.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง กุฎุมพีบรรลุโสดาปัตติผล พระธรรมเทศนามีประโยชน์แก่ชนผู้ประชุมกันแล้ว.
No comments:
Write comments