เรื่องบรรพชิต ๓ รูป
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภบรรพชิต 3 รูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อโยเค ยุญฺชมตฺตานํ เป็นต้น
ครั้งหนึ่ง ที่กรุงสาวัตถี บุตรคนเดียวของครอบครัว ออกบวชเป็นภิกษุก่อน ไปอยู่ในสำนักของภิกษุ ต่อมาบิดาก็ออกบวชตามบุตร ไปอยู่ในสำนักของภิกษุเช่นเดียวกับบุตร ต่อมามารดาก็ตามสามีและบุตรไปบวชเป็นภิกษุณี
อยู่ในสำนักภิกษุณี ทั้งสามคนแม้จะบวชแล้วก็ยังไปมาหาสู่กัน วันๆหมดไปด้วยการไปพบปะสนทนากันอยู่เป็นประจำ ในสำนักของภิกษุบ้าง ในสำนักของภิกษุณีบ้าง จนเป็นที่เดือนร้อนรบกวนแก่ภิกษุและภิกษุณีอื่นๆ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลพฤติกรรมของบรรพชิตทั้งสามแด่พระศาสดา และพระศาสดาได้ตรัสเรียกบรรพชิตทั้งสามรูปนั้นมาว่ากล่าวตักเตือน แล้วตรัสว่า “ชื่อว่าการทำเช่นนี้ จำเดิมแต่กาลแห่งตนบวชแล้ว ไม่ควร เพราะว่า การเห็นสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก และการเห็นสัตว์และสังขารอันไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์โดยแท้ เหตุนั้น การทำสัตว์และสังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เป็นที่รัก หรือไม่ให้เป็นที่รัก ย่อมไม่ควร”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สามพระคาถานี้ว่า
อโยเค ยุญชมตฺตานํ
โยคสฺมิญฺจ อโยชยํ
อตฺถํ หิตฺวา ปิยคฺคาหี
ปิเหตตฺตานุโยคินํ ฯ
มา ปิเยหิ สมาคญฺฉิ
อปฺปิเยหิ กุทาจนํ
ปิยานํ อทสฺสนํ ทุกฺขํ
อปฺปิยานญฺจ ทสฺสนํ ฯ
ตสฺมา ปิยํ น กยิราถ
ปิยาปิโย หิ ปาปโก
คนฺถา เตสํ น วิชฺชนฺติ
เยสํ นตฺถิ ปิยาปิยํ ฯ
บุคคล ประกอบตนไว้ในสิ่งอันไม่ควรประกอบ
และไม่ประกอบไว้ในสิ่งอันควรประกอบ
ละเสียแล้วซึ่งประโยชน์
ถือเอาอารมณ์อันเป็นที่รัก
ย่อมทะเยอทะยาน
ต่อบุคคลผู้ตามประกอบตน.
บุคคลอย่าสมาคมกับสัตว์และสังขารทั้งหลาย
อันเป็นที่รัก(และ) อันไม่เป็นที่รัก ในกาลไหนๆ
เพราะว่า การไม่เห็นสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก เป็นทุกข์.
เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่พึงกระทำสัตว์หรือสังขาร ให้เป็นที่รัก
เพราะความพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก เป็นการต่ำทราม
กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ของเหล่าบุคคลผู้มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก ย่อมไม่มี.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดปัตติผลเป็นต้น ฝ่ายชนทั้ง 3 นั้นคิดว่า พวกเราไม่อาจอยู่พรากกันได้ ไปสึกออกไปอยู่บ้านตามเดิม.
No comments:
Write comments