เรื่องภิกษุมีภัณฑะมาก
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภภิกษุผู้มีภัณฑะมาก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น นคฺคจริยา เป็นต้น
ในสมัยหนึ่ง ที่กรุงสาวัตถี มีเศรษฐีอยู่ผู้หนึ่ง หลังจากที่ภรรยาเสียชีวิตแล้ว เศรษฐีนี้ได้ไปบวชเป็นภิกษุ แต่ก่อนจะเข้ามาบวชเป็นภิกษุ เศรษฐีได้ให้คนสร้างวัดและสร้างครัวและห้องเก็บสิ่งของไว้ในวัดด้วย เมื่อบวชแล้วพระเศรษฐีก็ได้ให้คนขนเฟอร์นิเจอร์ เครื่องครัว ข้าวเปลือก น้ำมัน เนยแข็ง และสิ่งอื่นๆอีกมากมาย มาไว้ที่วัด แม้แต่เวลาจะฉันอาหารพระเศรษฐีก็มีคนใช้ตระเตรียมให้ฉัน สรุปว่า ถึงแม้ว่าจะเข้ามาบวชเป็นพระแล้วพระเศรษฐีก็ยังดำเนินชีวิตฟุ่มเพือยแบบเดียวกับเมื่อตอนที่ยังครองเรือนอยู่ และเพราะมีสิ่งของติดตัวมาบวชมากมายพระเศรษฐีจึงมีชื่อเรียกว่า พหุภัณฑิกะ(ภิกษุมีภันฑะมาก) อยู่มาวันหนึ่ง พวกภิกษุอื่นได้นำตัวพระเศรษฐีไปเฝ้าพระศาสดา และได้กราบทูลเรื่องที่พระเศรษฐีมีสิ่งของมากมายติดมาอยู่ในวัด และมิหนำซ้ำก็ยังใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยในแบบของผู้ครองเรือนเสียอีกด้วย พระศาสดาได้ตรัสกับพระเศรษฐีว่า “ภิกษุ เราแสดงธรรมเพื่อความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย เพราะเหตุใดเธอจึงเป็นผู้มีสิ่งของมากอย่างนี้เล่า” พระเศรษฐีโกรธที่ถูกพระศาสดาตำหนิ ได้กราบทูลด้วยความว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ ว่าแล้วก็เปลื้องจีวรออกจากกายมีเฉพาะผ้าสบงติดตัวอยู่ผืนเดียว แล้วไปยืนอยู่ในท่ามกลางบริษัท 4 พระศาสดาเมื่อทรงเห็นเช่นนั้น ก็ตรัสว่า “ภิกษุ ในกาลก่อน เธอแสวงหาหิริและโอตตัปปะ แม้ในกาลเป็นรากษสน้ำ ก็แสวงหาหิริโอตตัปปะอยู่ถึง 12 ปี มิใช่หรือ? บัดนี้ เธอบวชในพุทธศาสนา ที่เคารพอย่างนี้ แล้วเปลื้องผ้าห่มละหิริและโอตตัปปะ ยืนอยู่ในท่ามกลางบริษัท 4 เพราะเหตุใด?”
พระเศรษฐีได้ยินดำรัสของพระศาสดาเช่นนั้น ก็กลับได้สติ รีบห่มจีวร ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลให้พระศาสดาเล่าเรื่องบุรพชาติของพระเศรษฐี พระศาสดาจึงตรัสเล่าเรื่องในอดีตชาติในรูปของชาดกเรื่องหนึ่ง และตรัสกับพระเศรษฐีว่า “ ภิกษุ ในกาลก่อน เธอแสวงหาเทวธรรม ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะเที่ยวไปอย่างนั้น บัดนี้ เธอยืนอยู่ในทำนองนี้ ในท่ามกลางแห่งบริษัท 4 กล่าวอยู่ต่อหน้าเราว่า ฉันมีความปรารถนาน้อย ชื่อว่าได้ทำกรรมอันไม่สมควรแล้ว เพราะว่า บุคคลจะชื่อว่าเป็นสมณะ ด้วยเหตุสักว่าห้ามผ้าสาฎกเป็นต้นก็หามิได้”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
น นคฺคจริยา น ชฏา น ปงฺกา
นานาสกา ตณฺฑิลสายิกา วา
รโชชลฺลํ อุกฺกุฏิกปฺปธานํ
โสเธนฺติ มจฺจํ อวิติณฺณกงฺขํ ฯ
การประพฤติเป็นคนเปลือย
ก็ทำสัตว์ให้บริสุทธิ์ไม่ได้
การเกล้าชฎาก็ไม่ได้
การนอนเหนือเปือกตมก็ไม่ได้
การไม่กินข้าวก็ไม่ได้
การนอนบนแผ่นดินก็ดี
ความเป็นผู้มีกายหมักหมมด้วยธุลีก็ดี
ความเพียรด้วยการนั่งกระหย่งก็ดี
แต่ละอย่าง หาทำสัตว์ผู้ยังไม่ล่วงสงสัยให้บริสุทธิ์ได้ไม่.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นมาก บรรลุโสดาปัตติผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
No comments:
Write comments