เรื่องภิกษุผู้ปรารภวิปัสสนา
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน ทรงปรารภพวกภิกษุผู้ปรารภวิปัสสนา ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 40 นี้
พระภิกษุ 500 รูปในกรุงสาวัตถี เมื่อรับพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้ว ก็ได้เดินทางไปเป็นระยะทางห่างจากกรุงสาวัตถี 100 โยชน์ ไปถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่งเหมาะที่จะใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน รุกขเทวาทั้งหลายที่อยู่ในป่านั้นคิดว่า หากภิกษุเหล่านี้มาพำนักอยู่ในป่าแห่งนี้แล้ว ก็จะไม่เป็นการสมควรที่พวกตนพร้อมด้วยครอบครัวจะอยู่บนต้นไม้ ดังนั้นพวกรุกขเทวาจึงได้ลงมาจากต้นไม้มาอยู่ที่พื้นดินโดยคิดว่า พระภิกษุเหล่านี้จะมาพักอยู่แค่คืนเดียว แต่เมื่อครึ่งเดือนผ่านไปพวกภิกษุเหล่านี้ยังพักอยู่ที่นั่นต่อไป พวกเทวดามีความคิดว่าพวกพระภิกษุเหล่านี้อาจจะพักจำพรรษาอยู่จนกระทั่งออกพรรษาเลยก็ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นพวกรุกเทวดาก็จะต้องพักอยู่ที่พื้นดินเป็นเวลานาน ดังนั้นพวกรุกขเทวาจึงตัดสินใจทำสงครามจิตวิทยา โดยสร้างความตกใจให้แก่ภิกษุทั้งหลายด้วยการทำเป็นเสียงอมนุษย์บ้าง เป็นร่างผีที่น่ากลัวบ้าง เพื่อที่จะให้ท่านกลัวแล้วหนีไปอยู่ที่อื่น พวกรุกขเทวดาได้แสดงร่างผีหัวขาด ผีร่างขาด เป็นต้นให้พวกภิกษุได้เห็น เมื่อพวกภิกษุเหล่านั้นเห็นก็เกิดความเกรงกลัวออกจากที่นั้นกลับไปเฝ้าพระศาสดา และได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลให้ทรงทราบ เมื่อพระศาสดาได้ทรงทราบเรื่องที่เกิดขึ้นนี้แล้ว ได้ตรัสบอกว่าที่เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นมาก็เพราะพระภิกษุไปอยู่ที่นั่นโดยไม่มีอาวุธใดๆติดตัวไป พระองค์ได้ทรงแนะนำว่า “แต่ก่อน พวกเธอไม่เอาอาวุธไป บัดนี้พวกเธอจงเอาอาวุธไปเถิด” และว่า “เราจักให้อาวุธแก่พวกเธอ พวกเธอจงถืออาวุธที่เราให้ไป”
ดังนี้แล้วได้ตรัสเมตตสูตร(สูตรว่าด้วยความเมตตากรุณา) ซึ่งมีข้อความเริ่มต้นว่า
กรณียมตฺถกุสเลน
ยนฺตํ สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ
สกฺโก อุชู จ สุอุชู จ
สุวโจ จสฺส มุทุ อนติมานีฯ
ผู้รู้สันตบท(บทอันสงบ) พึงทำสิกขา 3 หมวด
ใด, ผู้ฉลาดในประโยชน์ ควรกระทำสิกขา 3หมวดนั้น
ผู้ฉลาดในประโยชน์ เป็นผู้ซื่อตรง เป็นผู้อ่อนโยน เป็นผู้ไม่ทะนงตัว.
พระศาสดาได้ทรงแนะนำว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงสาธยายเมตตสูตรนี้ จำเดิมแต่ไพรสณฑ์ภายนอกวิหาร เข้าไปสู่ภายในวิหาร” จากนั้นภิกษุเหล่านี้ก็ได้กลับคืนสู่ป่าและปฏิบัติตามที่พระศาสดาทรงแนะนำทุกประการ พวกรุกขเทวดาเมื่อได้รับคำแผ่เมตตาจากพระภิกษุเหล่านี้แล้วก็ได้ทำการต้อนรับจากรุกขเทวดาและทำการป้องกันอันตรายแก่ภิกษุเหล่านี้ หลังจากนั้นก็ไม่มีเสียงของอมนุษย์และภาพที่น่ากลัวอีกต่อไป เมื่อไม่สิ่งที่น่ากลัวเหล่านี้แล้ว จิตของภิกษุเหล่านี้ก็สงบมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว พิจารณาวิปัสสนา เริ่มเห็นความสิ้นความเสื่อมในร่างกายว่า มีสภาพ “เช่นกับภาชนะดินเพราะต้องแตกและไม่มั่นคง” พระศาสดาซึ่งประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฎี ทรงทราบความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของภิกษุเหล่านั้น ทรงฉายพระฉัพพรรณรังสีเป็นเหมือนประทับนั่งอยู่เบื้องหน้า แล้วตรัสว่า “อย่างนั้นนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าอัตภาพนี้ ย่อมเป็นเช่นกับด้วยภาชนะดินโดยแท้ เพราะอรรถว่าต้องแตก ไม่มั่นคง”
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 40 ว่า
กุมฺภูปมํ กายมิมํ วิทิตฺวา
นครูปมํ จิตฺตมิทํ กเถตฺวา
โยเธถ มารํ ปญฺญาวุเธน
ชิตญฺจ รกฺเข อนิเวสโน สิยาฯ
บุคคลเมื่อทราบว่ากายนี้แตกง่าย
เปรียบได้กับหม้อดิน
ป้องจิตนี้ให้ปลอดภัยเหมือนกับนคร
ที่มีป้อมปราการสร้างไว้ดีแล้ว
ใช้อาวุธคือปัญญารบกับมาร
รักษาชัยชนะไว้ และไม่ติดอยู่ในฌานและสมาบัติ.
เมื่อพระสัทธรรมเทนาจบลง ภิกษุ 500 รูปเหล่านั้นก็ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย และได้สรรเสริญชมเชย ถวายบังคมพระสรีระอันมีสีทองของพระตถาคต.
No comments:
Write comments