KEATHADHAMMABOTHTHAI

nousambath855@gmail.com

เรียบเรียงโดย จงฺกมรกฺขิโต นู สมบัติ keathadhammaboththai.blogspot.com

อ่านเรื่องในคาถาธรรมบท ๓๐๒ เรื่อง บล็กนี้เรียบเรียงโดย ภิกฺขุ จงฺกมรกฺขิโต นู สมบัติ ขออนุโมทนาบุญทุกย่าง ! Email: nousambath855@gmail.com

July 18, 2017

๕.เรื่องสานุสามเณร

Posted by   on Pinterest

เรื่องสานุสามเณร



พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภสามเณรชื่อสานุ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อิทํ  ปุเร เป็นต้น

สานุสามเณร  บวชเป็นสามเณรตั้งแต่เด็ก  เมื่ออายุมากขึ้น   มีความต้องการจะสึกออกไปเป็นฆราวาส  จึงไปที่บ้านและขอเสื้อผ้าชุดฆราวาสที่จะสวมใส่จากโยมมารดา  ข้างโยมมารดาไม่ต้องการให้สามเณรสึก  และได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้เห็นโทษของการเป็นฆราวาส  แต่สามเณรยืนกรานว่าจะต้องสึกให้ได้  โยมมารดาจึงบอกว่าจะจัดเสื้อผ้าให้แต่สามเณรต้องฉันภัตตาหารให้เรียบร้อยเสียก่อน   ขณะโยมมารดากำลังตระเตรียมอาหารอยู่นั้นเอง  นางยักษิณี  ซึ่งเคยเป็นมารดาของสานุสามเณรมาตั้งแต่อดีตชาติ  มีความคิดที่จะยับยั้งสามเณรไม่ให้สึกจึงเข้าสิงร่างของสามเณร  ทำการบิดคอสามเณร  จนตาสองข้างถลน  น้ำลายไหลออกมาจากปาก  ล้มลงที่พื้นดิน  โยมมารดาออกจากครัวมาเห็นเช่นนั้นก็ตกใจ  รีบช้อนบุตรให้มานอนบนตัก ส่วนพวกเพื่อนบ้านก็มาช่วยกันเซ่นสรวงบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย   เมื่อสามเณรฟื้นคืนสติมาอีกครั้งหนึ่ง   ทั้งนางยักษิณีและโยมมารดาของสามเณรได้ช่วยกันเตือนสติสามเณรให้มองเห็นโทษในการครองเรือน  เช่น  สอนว่าการเข้ามาบวชเป็นภิกษุหรือสามเณรนั้นก็เหมือนกับคนขึ้นมาจากเหวได้แล้ว  การสึกออกไปเป็นฆราวาสก็เหมือนกับตกลงไปในเหวอีก    คนมาบวชนั้นก็เหมือนกับสิ่งของที่จะถูกไฟไหม้  แต่ถูกยกหนีออกจากไฟได้สำเร็จ การสึกออกไปเป็นฆราวาสก็ไม่ผิดอะไรกับจะเอาสิ่งของนั้นไปใส่ให้ไฟไหม้อีกครั้งหนึ่ง     และหากสามเณรสึกออกไปเป็นฆราวาสแล้วก็จะไม่สามารถพ้นจากทุกข์ได้   ในที่สุดทั้งสองนางก็สามารถชี้ชวนสามเณรได้สำเร็จ  สามเณรรับปากว่าจะไม่สึกออกไปเป็นฆราวาส   เมื่อโยมมารดาสอบถามอายุของสามเณรแล้วทราบว่าอายุครบบวชเป็นภิกษุได้แล้ว  ก็ได้จัดแจงผ้าไตรจีวรและบาตร  ให้เข้ารับการอุปสมบทเป็นภิกษุ

เมื่อได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุจากพระศาสดาแล้ว   พระศาสดาได้ตรัสสอนเรื่องการข่มจิตแก่ภิกษุสานุผู้บวชใหม่ว่า  “ธรรมดาว่าจิตนี้  เที่ยวจาริกไปในอารมณ์ต่างๆตลอดกาลนาน  ชื่อว่าความสวัสดี  ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ข่มจิตนั้นลงไปได้  เพราะฉะนั้น  บุคคลจึงควรทำความเพียรในการข่มจิต  เหมือนนายหัตถาจารย์ทำความพยายามในการข่มช้างซับมันด้วยขอฉะนั้น”

 จากนั้น   พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อิทํ  ปุเร  จิตฺตมจาริ  จาริกํ
เยนิจฺฉกํ  ยตฺถกมฺมํ  ยถาสุขํ
ตทชฺชหํ  นิคฺคหิสฺสามิ  โยนิโส
หตฺถึ  ปภินฺนํ  วิย  องฺกุสคฺคาโห ฯ

เมื่อก่อน  จิตนี้ได้เที่ยวจาริกไป
ตามอาการที่ปรารถนา  ตามอารมณ์ที่ใคร่  และตามสบาย
วันนี้  เราจักข่มมันด้วยโยนิโสมนสิการ
ประหนึ่งนายควาญช้าง  ข่มช้างที่ซับมันฉะนั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่เทวดาเป็นอันมาก  ผู้เข้าไปเพื่อสดับธรรมพร้อมกับพระสานุ

พระคัมภีร์กล่าวถึงประวัติของพระสานุรูปนี้ต่อไปว่า  ท่านเล่าเรียนพระไตรปิฎก  และได้เป็นพระธรรมกถึกที่เชี่ยวชาญ  ได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้ขจรขยายไปทั่วชมพูทวีป  และได้ปริพพานเมื่อมีอายุได้  120 ปี

No comments:
Write comments